1 เดือน โควิดคร่าชีวิตผู้ป่วย กทม. 151 คน

สังคม
11 พ.ค. 64
13:21
4,202
Logo Thai PBS
1 เดือน โควิดคร่าชีวิตผู้ป่วย กทม. 151 คน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิด 5 จังหวัดผู้ป่วย COVID-19 เสียชีวิตสะสมสูงสุดในระลอกใหม่ กทม.อันดับ 1 จำนวน 151 คน ขณะที่ข้อมูลกองระบาดฯ พบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวถึง 86%

วันนี้ (11 พ.ค.64) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกป่วยสะสม 159 ล้านคน รักษาหายแล้ว 137 ล้านคน และเสียชีวิต 3.3 ล้านคน โดยสหรัฐฯ ยังป่วยสะสมมากสุด 33 ล้านคน รองลงมาคืออินเดีย และบราซิล ส่วนไทยอยู่อันดับ 99 ของโลก


ส่วนไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 1,919 คน สะสม 86,924 คน หายป่วยเพิ่ม 1,829 คน รวม 57,037 คน รักษาใน รพ. 29,435 คน อาการหนัก 1,207 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 390 คน เสียชีวิตเพิ่ม 31 คน รวม 452 คน การฉีดวัคซีนฉีดแล้ว 1.8 ล้านโดส เข็มแรก 1.3 ล้านคน เข็ม 2 อีก 532,462 คน


คนกลับจากต่างประเทศ อินเดีย 11 คน ยืนยัน ทุกคนที่มาจากอินเดียตอนนี้เป็นคนไทย และผลการตรวจหาเชื้อ พบเชื้อตั้งแต่ DAY 0 จำนวน 5 คน และ DAY 1 จำนวน 6 คน ตามระบบ SQ

พบคนไทยผ่านชายแดนมาจากกัมพูชาอย่างถูกกฎหมาย 3 คน ต้องขอบคุณมาก เราขอทุกคนอย่าลักลอบ ท่านป่วย เราดูแล

 

สำหรับผู้เสียชีวิตอยู่ใน กทม. 17 คน นนทบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 2 คน นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ ลำปาง เชียงใหม่ และพิจิตร จังหวัดละ 1 คน โดยเป็นชาย 15 คน หญิง 16 คน อายุตั้งแต่ 34-94 ปี เป็นต่างชาติ 2 คน ยูเครน และฝรั่งเศส โดยโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ยังเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 13 คน เบาหวาน 10 คน ไขมันในเลือดสูง 7 คน

จากข้อมูลโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังอยากให้รับทราบข้อมูลชุดนี้ว่าวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคอย่างชัดเจน และลดอัตราการเสียชีวิต ย้ำวัคซีนคือทางออก

ผู้ป่วยเสียชีวิตระลอกใหม่ กทม.มากสุด

กองระบาดวิทยาได้นำตัวเลขมาทวนสอบในที่ประชุม โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 10 พ.ค.64 กลุ่มผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 รวม 327 คน อายุตั้งแต่ 24 - 100 ปี เป็นคนไทย 318 คน คิดเป็น 97% โดยผู้เสียชีวิตพบมีโรคประจำตัวถึง 86% และไม่มีโรคประจำตัว 14%

โรคประจำตัวที่พบมากทีุ่สุด ความดันโลหิตสูง 73% เบาหวาน 55% ไขมันในเลือดสูง 30% โรคไตเรื้อรัง 17% โรคหัวใจ 13% โรคอ้วน 8% และโรคปอด 8% ซึ่งเป็นสาเหตุให้ สธ.ต้องเน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงที่สูงอายุและมีโรคเรื้อรังเข้ารับวัคซีน


สำหรับจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากสุด 5 อันดับ คือ

  1. กทม. 151 คน
  2. สมุทรปราการ 24 คน
  3. นนทบุรี 23 คน
  4. ปทุมธานี 2 คน
  5. เชียงใหม่ 10 คน

ส่วนเคสผู้ป่วยหนัก - ใส่ท่อช่วยหายใจใน กทม.และปริมณฑลยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ่นต่อเนื่อง ขณะที่ต่างจังหวัดตัวเลขเริ่มนิ่งแล้ว 


ส่วนผู้ป่วยใหม่ 10 จังหวัดสูงสุด กทม.ยังพบมากสุด 855 คน สะสม 20,429 คน รองลงมาคือ ปทุมธานี 160 คน นนทบุรี 141 คน จันทบุรี 89 คน ชลบุรี 73 คน สมุทรปราการ 70 คน ระนอง 44 คน สุราษฎร์ธานี 42 คน นครราชสีมา 38 คน และสมุทรสาคร 35 คน


ลุ้นผ่อนคลายร้านอาหาร - ผู้ประกอบการฉีดวัคซีน

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงกรณีการผ่อนคลายมาตรการให้ร้านอาหาร หลังสมาคมภัตตาคารไทยยื่นเรื่องถึงที่ประชุม ศบค. เบื้องต้น ที่ประชุมได้หารือว่าหากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง อาจมีการผ่อนคลายโดยตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการมีมาตรการป้องกัน COVID-19 อย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ

นอกจากนี้ สมาคมภัตตาคารไทย ยังได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งที่ประชุมได้สั่งการให้ ศบค.มท.ประสานผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดตรวจสอบว่าสามารถแบ่งวัคซีนในโควตาให้ผู้ประกอบการร้านอาหารได้หรือไม่

คนอยากฉีดวัคซีนรอข่าวดี จ่อขยายกลุ่มเป้าหมาย

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งในที่ ประชุม ครม.เกี่ยวกับการลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 หลังเปิดลงทะเบียน 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ - 7 โรคเรื้อรัง แต่มีผู้ลงทะเบียนล่าสุด 1.6 ล้านคนต่อยอดวัคซีน 16 ล้านโดส ซึ่งยอดห่างกันถึง 10 เท่า จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาขยายกลุ่มเป้าหมาย คาดมีข่าวดีเร็ว ๆ นี้ สำหรับคนที่ต้องการฉีดวัคซีน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง