6 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตอบทุกคำถามวัคซีนโควิด

สังคม
12 พ.ค. 64
08:44
2,822
Logo Thai PBS
6 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตอบทุกคำถามวัคซีนโควิด
6 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมตอบทุกคำถามเกี่ยวกับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ทั้งประสิทธิภาพและผลข้างเคียง โดยเฉพาะของ "ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา" รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนกับไวรัสกลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2564 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ ทีมแพทย์ 3 สถาบัน” โดยเผยแพร่ผ่านยูทูบ RAMA Channel

Q : มีคนไทยเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนหรือไม่?

A : ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก ระบุว่า ไม่มีคนเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน แต่ทุกวันมีผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 คิดเป็น 1-2% ในผู้ป่วย 100 คน ดังนั้น ขอให้กลัวโรคมากกว่ากลัววัคซีน

Q : พบคนมีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมากแค่ไหน?

A : ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุว่า ผลข้างเคียงที่เป็นการแพ้วัคซีน 1 ใน 100,000 คน ส่วนผลข้างเคียงที่มีอาการไข้ ปวด บวม แดง ร้อน รายงานมาไม่ถึง 10% ของผู้ฉีด 1,700,000 คน แต่คาดว่าจะมีมากกว่านี้

หลังฉีดวัคซีนถ้าไข้สูง ภูมิคุ้มกันจะขึ้นดี แสดงถึงผลตอบสนองของร่างกายตอบสนองต่อวัคซีน ยิ่งอายุน้อยไข้จะสูง โดยจะมีไข้ 1-2 วัน แล้วจะเป็นปกติ

Q : ฉีดวัคซีนกับไม่ฉีดวัคซีนต่างกันอย่างไร?

A : ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ระบุว่า ต่างกันมาก เมื่อฉีดวัคซีนโอกาสที่จะติด COVID-19 ลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง และเมื่อฉีดวัคซีนครบแล้ว ระยะเวลาที่ผ่านไป ภูมิต้านทานยิ่งเพิ่มขึ้น 

A : ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ระบุว่า วิกฤตครั้งนี้จะแก้ได้ด้วยวัคซีน ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้ว 1,300 ล้านโดส แต่เป้าหมายของทั่วโลก คือ 10,000 ล้านโดส สำหรับไทยต้องไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส จึงจะยุติวิกฤตได้ 

Q : ลังเลฉีดวัคซีน พบข่าวอาการชา - ลิ่มเลือด?

A : ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ ระบุว่า วัคซีน COVID-19 ไม่ได้เพิ่มปรากฏการณ์การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั่วไป โดยเฉพาะประชากรไทยมีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำต่ำกว่าชาวตะวันตกถึง 10 เท่า เนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรม

ส่วนที่ได้ยินข่าวภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษและเกล็ดเลือดต่ำในอังกฤษหรือยุโรป ซึ่งพบน้อยมาก 1 ใน 100,000 ถึง 1 ใน 1,000,000 คน คิดว่าไม่ต้องตกใจ เกิดจากการตอบสนองของภูมิต้านทานในร่างกายที่รุนแรงเกินไป จะไปกระตุ้นเกล็ดเลือดทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่หากพบอาการก็สามารถรักษาหายได้ 

รามาธิบดีมีการศึกษาผู้ที่ฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว พบว่า ยังไม่มีใครที่เกิดภูมิต้านทานที่สัมพันธ์กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันสูงกว่าปกติ และไทยยังไม่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ

A : ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุว่า กรณีอาการชา เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นชั่วคราว เนื่องจากร่างกายไม่พร้อม อ่อนเพลีย และมีอาการกลัว ทำให้เกิดอาการชาและอ่อนเพลียไปครึ่งตัว แต่ผ่านไป 1-3 วันจะหายเป็นปกติ ยืนยัน ไม่มีใครเสียชีวิต หรือเป็นอันตรายถาวร เรื้อรัง

Q : ประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละยี่ห้อตามข้อมูลวิชาการ?

A : ผศ.นพ.กำธร ระบุว่า การทดลองวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ไม่ได้ทดลองในสถานที่และเวลาเดียวกัน ดังนั้น จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ อีกทั้งแต่ละที่สายพันธุ์ต่างกัน แม้สายพันธุ์ต่างกันแต่ประสิทธิภาพของวัคซีนถ้าเทียบกันประสิทธิภาพไม่ต่างกัน อย่างวัคซีนที่ไทยมีคือซิโนแวค และแอสตราเซเนกา เมื่อนำกราฟมาเทียบกันแทบจะเป็นเส้นเดียวกัน

ในวงการแพทย์ไม่ได้กังวลมากเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะแต่ละตัวดูแล้วใกล้เคียงกันมาก ใช้ได้หมดเลย ใครมาก่อนฉีดวัคซีนก่อน มีภูมิก่อน ดังนั้น อย่าลังเล

A : รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ระบุว่า ในแต่ละประเทศใช้วัคซีนแตกต่างกัน เช่น อิสราเอลใช้ไฟเซอร์เป็นหลัก สหรัฐฯ ใช้ไฟเซอร์และโมเดอร์นา อังกฤษใช้แอสตราเซเนกา และจีนใช้ซิโนแวค ฉีดกัน 200 - 300 ล้านโดส ก็พบว่าแต่ละประเทศเหล่านี้มีสถานการณ์ดีขึ้น คนป่วยน้อยลง เสียชีวิตน้อยลง และกำลังจะเปิดประเทศได้โดยเร็ว

A : ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุว่า สกอตแลนด์ตีพิมพ์ผลการศึกษาออกมา หลังใช้วัคซีนไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา โดยปูพรมฉีด 1 เข็มทุกคน วัดประสิทธิภาพ 2 วัคซีนได้ผลดีเท่ากัน ประมาณ 90% ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 


A : ศ.นพ.ยง ระบุว่า เปรียบเทียบประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ โดยทั้ง 2 ประเทศมีประชากรใกล้เคียงกับไทย คือ ประมาณ 65 - 66 ล้านคน โดยอังกฤษใช้วัคซีนไฟเซอร์ในช่วงแรกและใช้แอสตราเซเนกาเป็นหลักในช่วงหลัง ส่วนฝรั่งเศสใช้คล้ายกัน แต่กลับมาพะวงเรื่องผลข้างเคียงของลิ่มเลือดในช่วงหลังจึงชะลอการฉีดลง

วันนี้อังกฤษป่วยลดลงเหลือหลักพัน และมีผู้เสียชีวิตเป็นหลักหน่วย เมื่อวันอาทิตย์เสียชีวิต 2 คน และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อังกฤษฉลองคนเสียชีวิต 0 คน ขณะที่ฝรั่งเศสมีผู้ป่วยวันละ 20,000 - 30,000 คน และเสียชีวิตประมาณ 200 - 300 คน 

อัตราการฉีดวัคซีนในอังกฤษเข็มแรก 74% ขณะที่ฝรั่งเศสฉีดไป 34% ดังนั้น ความสำคัญ คือ จะฉีดอย่างไรให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด ไม่ว่ายี่ห้อไหนก็ตาม เพราะวัคซีนทุกชนิดทำการศึกษาผ่านระยะที่ 3 มาแล้วทั้งหมด

อังกฤษฉีดวัคซีนมากกว่าฝรั่งเศสเท่าตัว แต่ผลต่างของเคสห่างกัน 10 เท่าตัว

Q : หลังฉีดวัคซีนถ้ามีอาการผลข้างเคียงใครดูแล? 

A : รศ.นพ.วินัย ระบุว่า ตั้งแต่ร่วมรับผิดชอบการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ยืนยันว่า มีความพร้อมและดูแลดีที่สุด เพราะหลังการฉีดวัคซีนจะมีการเก็บข้อมูลว่าใครได้วัคซีนยี่ห้ออะไร ล็อตไหนแบบเรียลไทม์ ดังนั้น หากมีอาการผลข้างเคียงแล้วไปโรงพยาบาลใด ก็จะสามารถดูได้ทันทีว่าคนนี้ได้วัคซีนอะไรมา และเมื่อฉีดเสร็จจะดูอาการ 30 นาทีทุกคน ซึ่งใครจะเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงทีมแพทย์จะสามารถช่วยเหลือและรักษาได้ทันท่วงที

Q : ประสิทธิภาพวัคซีนกับไวรัสกลายพันธุ์?

A : ศ.นพ.ยง ระบุว่า มีการศึกษาเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์มาก โดยสายพันธุ์แอฟริกา อังกฤษ และบราซิล เบื้องต้น สายพันธุ์อังกฤษซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดใน กทม.และปริมณฑลนั้น ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน 

สายพันธุ์แอฟริกา เรายอมรับว่า อาจจะมีผลบ้าง แต่จำนวนผลที่ลดลงมา คล้าย ๆ ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนก็ยังเพียงพอ หรือแม้กระทั่งแต่สายพันธุ์บราซิลก็ตาม

เมื่อมาดูสายพันธุ์อินเดีย ตอนนี้มีเพียงข้อมูลว่าแพร่ได้เร็ว แต่ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดว่า ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนด้อยลงไปหรือไม่ ดังนั้น คงต้องรอสักหน่อย แต่ผมคิดว่า วัคซีนที่ปูพรมฉีดไป อย่างน้อยก็มีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะด้อยลงนิดนึง แต่สามารถปกป้องคนส่วนใหญ่

การฉีดวัคซีนในหมู่มาก เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาด้วย

A : ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุว่า ได้อ่านวิเคราะห์ข้อมูลสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งมีข้อมูลคาดว่า วัคซีนยังสามารถจัดการได้ เพราะลักษณะพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปส่วนหนึ่งมีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์อังกฤษ และอีกส่วนหนึ่งคล้ายกับสายพันธุ์ในสหรัฐฯ ซึ่งไม่ปรากฏว่า ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงไป ดังนั้น ความเชื่อในขณะนี้คาดว่าสายพันธุ์อินเดียไม่ดื้อวัคซีน

Q : อาการข้างเคียงของซิโนแวค - แอสตราเซเนกา?

A : ศ.นพ.ยง ระบุว่า แอสตราเซเนกาฉีดให้กลุ่มอายุน้อยถึงอายุมาก ซึ่งอาการข้างเคียงของกลุ่มอายุน้อยจะมีอาการข้างเคียงมากกว่าผู้สูงอายุ แต่อาการข้างเคียงนั้นมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ปวดเมื่อยตัวประมาณ 1 วัน โดยเด็กและผู้หญิงจะพบมากกว่า

ส่วนซิโนแวคหากฉีดไป 250 คน ทุกวัย มีอาการชาเพียง 1 คน ชาบริเวณแขนเพียงครึ่งวันก็หาย ซึ่งซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ Traditional การฆ่าไวรัสใช้สารเคมีตัวเดียวกันกับวัคซีนพิษสุนัขบ้า การกระตุ้นภูมิต้านทานใช้ตัวเดียวกันกับบาดทะยัก มีต่างกันเพียงตัวเดียวคือไวรัส 

อาการข้างเคียงเฉพาะที่ของซิโนแวคน้อยกว่ามาก แต่ต้องยอมรับว่าแอสตราเซเนกาเป็นไวรัสที่มีเชื้อเป็น ไม่สามารถแบ่งตัวได้ เมื่อเข้าไปในร่างกายก็เหมือนการติดเชื้อเฉพาะที่ ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสู้


A : ศ.นพ.พันธุ์เทพ ระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว น้อยมากที่มีผลข้างเคียง ส่วนใหญ่มีไข้ต่ำ ๆ เจ็บบริเวณที่ฉีด แต่ไม่มีใครเกิดผลข้างเคียงรุนแรง

A : ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุว่า ซิโนแวค ข้อดีคือ อาการข้างเคียงอย่างไข้หรืออ่อนเพลียมีน้อยกว่า แต่ข้อด้อย คือ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพื่อได้ผลเต็มที่ เนื่องจากหลังฉีดเข็มที่ 1 ซิโนแวคจะได้ผลครึ่งทาง และต้องรีบฉีดเข็มที่ 2 ภายใน 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ผลเต็มที่

ส่วนแอสตราเซเนกา ข้อดี คือ ฉีดเพียงเข็มเดียว ก็ได้ผลประมาณ 90% หรือเกือบเต็มที่แล้ว เข็มที่ 2 ก็อาจจะทิ้งช่วงได้หน่อย เพื่อเติมให้ประสิทธิภาพเต็มที่ 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง