ทส.ขีดเส้น 120 วัน "ราชการ" ขอใช้พื้นที่เขตป่า-ใช้ผิดยึดคืน

สิ่งแวดล้อม
19 พ.ค. 64
14:25
677
Logo Thai PBS
ทส.ขีดเส้น 120 วัน "ราชการ" ขอใช้พื้นที่เขตป่า-ใช้ผิดยึดคืน
ปลัดทส.กำชับจังหวัดทำความเข้าใจหน่วยราชการและหน่วยงานรัฐทุกจังหวัดยื่นคำขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าภายใน 120 วัน หากครบเวลาจะไม่อนุญาติเพิ่มเติม ส่วนที่ดินทำกิน คทช.เร่งทำแผนเสนอภายใน 30 วัน ขู่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ยึดคืนทันที

วันนี้ (19 พ.ค.2564) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า จากการการประชุมติดตามงานทส.ร่วมกับสำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.)ว่า กำชับให้เร่งรัดแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน 4 เรื่อง คือ การอนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ หลังจากเมื่อ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบขยายเวลายื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ โดยให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ภายใน 120 วัน ซึ่งจะมีการรวบรวมตัวเลขพื้นที่ที่จะใช้ และหน่วยงานต่างๆที่ขอใช้พื้นที่อย่างละเอียดอีกครั้ง

ปลัดทส.กล่าวอีกว่า กำชับให้ทุกจังหวัดนำมติ ครม.ชี้แจงทำความเข้าใจ เร่งรัดให้แต่ละจังหวัดตรวจสอบพื้นที่ส่งให้กรมป่าไม้ พิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ เพราะต่อไปจะไม่มีการขยายเวลาเพิ่มเติมให้กับพื้นที่ที่ยังไม่ได้ขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์อีก 

ถ้าขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่า และนำใช้ผิดวัตถุประสงค์แล้วจะเอายึดคืนทั้งหมด เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหามาแล้ว เช่น นำไปสร้างอาคารในเขตป่าชายเลน ก็เอาคืน 

นายจตุพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอให้ทุกจังหวัดเร่งตรวจสอบโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สอบพื้นที่ และนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อทำจังหวัดแผนงานที่มีระยะเวลาการทำงานชัดเจนส่งภายใน 30 วัน ใช้เป็นกรอบการทำงานของแต่ละจังหวัด

จ่อรับมืออุทกภัย-แผนปลูกป่า

ปลัดทส.กล่าวอีกว่า ช่วงนี้เข้าฤดูฝนจึงให้ทุกจังหวัดเตรียมปลูกป่าให้ได้ตามแผนที่กำหนดจะเริ่มปลูกต้นไม้พร้อมกันทั่วประเทศช่วงสัปดาห์หน้า ในวันที่ 26 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ภาพรวมผลการดำเนินการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ระยะที่ 1 ปี 2563 จำนวน  21,247 ไร่ ถือว่าเกินจากเป้าที่วางไว้ ส่วนระยะที่ 2 ปีนี้กำหนดพื้นที่เป้าหมายอีก 400,000 ไร่  

สำหรับข้อสุดท้ายการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในปี 2564 ขอให้ทสจ.เป็นศูนย์กลางประสานงานกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทำแผนการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากที่มีแผนการทำงาน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุการณ์ที่ชัดเจน รวมถึงการประสานงานร่วมกับแต่ละหน่วยงาน แนวทางการซักซ้อมหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น เพื่อให้เมื่อเกิดเหตุการณ์จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นระบบ ไม่เกิดความตื่นตระหนก ช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง