ที่ปรึกษา ศบค.แนะ กทม.ตั้ง "แคมป์ควอรันทีน" ดูแลผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติ

สังคม
20 พ.ค. 64
13:43
2,516
Logo Thai PBS
ที่ปรึกษา ศบค.แนะ กทม.ตั้ง "แคมป์ควอรันทีน" ดูแลผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติ
ที่ปรึกษา ศบค.แนะ กทม.เร่งตั้ง "แคมป์ควอรันทีน- แคมป์ไอโซเรชัน" ดูแลผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากในพื้นที่ กทม.มีตัวเลขแรงงานข้ามชาติกว่า 580,000 คน และมักอยู่ร่วมกลุ่มกันในแคมป์ทำให้มียอดตรวจค้นหาเชิงรุกสูงกว่าวันละ 300 คน

วันนี้ (20 พ.ค.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รายสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่ กทม. โดยพบว่า จากข้อมูลมีแคมป์ก่อสร้างทั้งหมด 409 แห่งในพื้นที่ กทม.ทั้ง 50 เขต มีตัวเลขคนงานรวม 62,169 คน เป็นคนไทย 26,134 คน ต่างชาติ 36,035 คน โดยสำนักงานเขตทุกเขตมีการติดตามสถานการณ์และทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจค้นหาเชิงรุกวันละกว่า 300 คน รวมกับผู้ป่วยก่อนหน้าทำให้มีความต้องการเตียงไม่ต่ำกว่าวันละ 800 คน โดยสำนักอนามัยกรุงเทพฯ ได้จัดแนวทางการดูแลแคมป์คนงานก่อสร้าง

นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุอีกว่า ในการประชุมช่วงเช้าที่ผ่านมา คณะกรรมการที่ปรึกษาของ ศบค.โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศปก.ศบค.ได้ประมาณการว่า กทม.และปริมณฑล มีคนต่างชาติที่ถูกกฎหมาย 1,318,641 คน แบ่งเป็นอยู่ใน กทม. จำนวน 580,000 คน จ.สมุทรสาคร จำนวน 230,000 คน จ.สมุทรปราการ จำนวน 160,000 คน จ.ปทุมธานี 130,000 คน จ.นนทุบุรี 99,000 คน และ จ.นครปฐม จำนวน 93,000 คน


ส่วนแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายทั่วประเทศราว 1 ล้านคน ซึ่งมีความเสี่ยงคือ 1.เป็นผู้ที่ไม่หยุดนิ่ง อาจหลบหนี เคลื่อนย้ายบ่อย 2.อยู่กับผู้ที่ถูกกฎหมายและเกาะกลุ่มรวมกันทำงานและย้ายจุด 3.ที่พักแออัด แคบ กิน ดื่มร่วมกัน ในพื้นที่จำกัด ซึ่งอาจทำใหควบคุมโรคได้ยาก

คณะกรรมการที่ปรึกษาของ ศบค.จึงเสนอให้ต้องมีศูนย์คัดแยกผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือ แคมป์ควอรันทีน (Camp Quarantine) หรือ แคมป์ไอโซเลชัน (Camp Isolation) เช่น กรณีโรงพยาบาลสนาม จ.ปทุมธานี ที่มีการปรับปรุงตลาดเก่า เพื่อจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับแรงงานข้ามชาติและมีชุมชนดูแล พร้อมมีรั้วรอบขอบชิด โดยจะเป็นโมเดลให้ กทม.สามารถเร่งดำเนินการได้ เนื่องจากในแต่ละวัน กทม.ตรวจเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีมาตรการขยายนิรโทษกรรม ในการขึ้นทะเบียนโดยถูกกฎหมายเพื่อให้นำไปสู่การจ้างงานโดยถูกกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ โดยตามข้อแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษาของ ศบค. ทำให้ กทม.ต้องการทีมสอบสวนโรคเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องการนักวิชาการสาธารสุขทีมละ 4 คน ลงสอบสวนโรค ในทุกเขต และต้องการทีมฉีดวัคซีนทั้งแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครทั่วไป หากต้องการร่วมเป็นจิตอาสา สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 06-4805-2620

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง