ข่าวดี! ค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลกในไทย

Logo Thai PBS
ข่าวดี! ค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลกในไทย
ข่าวดี! นักวิชาการไทยค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อกระเจียวจรัญ กระเจียวรังสิมา ขมิ้นน้อย ขมิ้นพวงเพ็ญ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิงและนักพฤกษศาสตร์ของไทย ส่วน "ว่านหัวน้อย" พบที่จ.อุตรดิตถ์ เพิ่งมีรายงานใหม่ในไทย

วันนี้ (24 พ.ค.2564) รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช กล่าวว่า จากการสำรวจและเก็บข้อมูลพืชวงศ์ขิงในไทย ภายโครงการองค์ความรู้พื้นฐานโครโมโซมของพืชวงศ์ขิงในไทยช่วงปี 2563 โดยนำตัวอย่างพืชมาศึกษาโครโมโซม และตรวจสอบลักษณะพืช ขณะนี้ค้นพบพืชตระกูลขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิด ดังนี้

ขมิ้นน้อย

ขมิ้นน้อย หรือ “Khamin-Noi” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma chantaranothaii Boonma & Saensouk พบทางเป็นพืชป่าจากจังหวัดนครนายกที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศไทยชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตั้งเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร.ประนอม จันทรโณทัย ซึ่งท่านเป็นนักพฤกษศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงในแวดวงพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก

กระเจียวรังสิมา

กระเจียวรังสิมา หรือ Krachiao Rangsima” หรืออีกชื่อคือ “บุษราคัม หรือ Bussarakham” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma rangsimae Boonma & Saensouk พบในจังหวัดนครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา

ชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตั้งเป็นเกียรติแก่ คุณรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมอาวุโส โปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติบุคคล ที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

ขมิ้นพวงเพ็ญ

ขมิ้นพวงเพ็ญ หรือ “Khamin-Puangpen” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma puangpeniae Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว

พืชชนิดนี้พบที่ จ.ราชบุรี ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย

กระเจียวจรัญ

กระเจียวจรัญ หรือ “Krachiao Charan”มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma charanii Boonma & Saensouk อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่ จ.ลพบุรี ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ดร.จรัญ มากน้อย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิง โดยเฉพาะสกุล Curcuma ในประเทศไทย

พญาว่าน

พญาว่าน "Phraya Wan" มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma phrayawan Boonma & Saensouk พบที่ จ.นครนายก และปลูกเป็นพืชสมุนไพรทั่วไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามชื่อพื้นเมืองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “พญาว่าน”

กระเจียวม่วง หรือ "อเมทิสต์" มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma purpurata Boonma & Saensouk พบที่ จ.ศรีสะเกษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามสีม่วงของดอกพืช

รศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า นอกจากนี้ สำหรับพืชวงศ์ขิงที่พบเพิ่มเติมแต่อยู่ในสกุลเปราะ (Kaempferia) 2 ชนิด คือ นิลกาฬ หรือ Nillakan มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia nigrifolia Boonma & Saensouk พืชชนิดใหม่ของโลก

นิลกาฬ

นิลกาฬ นี้ได้ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ พบทางภาคกลางของประเทศไทย ได้ศึกษาโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ชื่อพื้นเมือง คือ นิลกาฬ หรือ Nillakan ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ ดังนั้นลักษณะเด่น คือ ใบสีดำดอกและสีม่วง

ว่านกระชายดำเทียม

ว่านกระชายดำเทียม มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia pseudoparviflora Saensouk and P. Saensouk ลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีใบเดียว ก้านช่อดอกสั้น และช่อดอกอัดแน่น พบทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้ศึกษาโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ชื่อพื้นเมือง คือ ว่านกระชายดำเทียม

และชนิดสุดท้าย เป็นพืชวงศ์ขิงที่มีการรายงานใหม่ในประเทศไทย 1 ชนิด คือ ว่านหัวน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma peramoena Souvann. & Maknoi. พบครั้งแรกที่ประเทศลาว และมีการพบในประเทศไทยที่ จ.อุตรดิตถ์ ลักษณะเด่นช่อดอกอัดแน่น ดอกสีขาวปนสีชมพูอ่อน กลีบปากมีแถบสีเหลือง

 

การค้นพบพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิดนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของไทย ที่แสดงให้เห็นว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะพืชวงศ์ขิงนี้ ถือเป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งสรรพคุณของสมุนไพรไทย เป็นพืชผักพื้นบ้าน เป็นไม้ดอกไม้ประดับ และยังมีความสวยงามของต้นและดอกสีสันสดใส

คณะผู้วิจัยกำลังมีแนวทางในการขยายพันธุ์จากเหง้าและขยายพันธุ์โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ที่เกิดจากงานวิจัย ถ่ายทอดลงสู่ชุมชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เพื่อทำการอนุรักษ์สายพันธุ์ต่างๆ ในระยะยาวต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง