กรมปศุสัตว์ นำเข้าวัคซีน 6 หมื่นโดส คุม "โรคลัมปี สกิน" ระบาด 35 จังหวัด

ภูมิภาค
24 พ.ค. 64
16:58
3,111
Logo Thai PBS
กรมปศุสัตว์ นำเข้าวัคซีน 6 หมื่นโดส คุม "โรคลัมปี สกิน" ระบาด 35 จังหวัด
กรมปศุสัตว์ เตรียมนำเข้าวัคซีน 60,000 โดสสกัด "โรคลัมปี สกิน" ระบาดในโคกระบือ พบลาม 35 จังหวัด สัตว์ป่วย 6,763 ตัว คาดถึงไทยปลายเดือนพ.ค.นี้ แนะนำห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยตัดวงจรการระบาด ห้ามนำเนื้อสัตว์โดยไม่รู้สาเหตุไปชำแหละขาย

วันนี้ (24 พ.ค.2564) นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคลัมปีสกิน ในโคกระบือ ล่าสุดพบระบาดใน 35 จังหวัด มีสัตว์ป่วย 6,763 ตัว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

ทำให้กรมปศุสัตว์ มีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายโคกระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด และควบคุมแมลงพาหะนำโรค เนื่องจากเป็นโรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค

จึงขอให้เกษตรกรป้องกัน โดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและในพื้นที่เสี่ยง

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องจากโรคนี้ เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียารักษาโดยตรง จำเป็นต้องรักษาตามอาการ โดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 สัตว์ป่วยแสดงอาการ มีไข้ให้ดำเนินการให้ยาลดไข้

ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนัง ให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้ยารักษาแผลที่ผิวหนัง ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดี

จัดหาวัคซีนล็อตแรก 60,000 โดส 

นายสรวิศกล่าวว่า เนื่องจากโรคลัมปีสกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทย จึงยังไม่เคยมีการใช้วัคซีนในสัตว์ สำหรับควบคุมและป้องกันโรคในประเทศมาก่อน การใช้วัคซีนมีความจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง และติดตามผลหลังการใช้อย่างใกล้ชิด

กรมปศุสัตว์ อยู่ระหว่างการนำเข้าวัคซีน เพื่อใช้ควบคุมโรคในพื้นที่เกิดโรค โดยล็อตแรกที่จะนำเข้ามา 60,000 โดส

ซึ่งการนำเข้าวัคซีนจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนที่จะใช้ในสัตว์ และขอย้ำว่า การใช้วัคซีนเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้โรคสงบได้ ต้องดำเนินการตามมาตรการทั้งหมด

 

พร้อมกันนี้ต้องขอความร่วมมือเกษตรกร ปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรคเพื่อลดการแพร่กระจาย และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น หากเกษตรกรพบสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่านำไปจำหน่าย ให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที

นอกจากนี้ กรมปศุตว์ ยังได้ทำข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นคำถาม-ตอบวัคซีนควบคุมโรคลัมปีสกิน โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีนที่จะนำเข้าจากต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ ระบุว่า ได้ตรวจวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของเชื้อที่ระบาดในพื้นที่กับเชื้อที่ใช้ในการผลิตวัคซีนแล้วพบว่าใกล้เคียงกัน

ชาวบ้านนครพนม เจอแม่วัวติดโรค

นายยันชัย วงค์กระโซ่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านดงน้อย ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม กล่าวว่า แม่พันธุ์วัวลูกผสมที่เลี้ยงมามากกว่าปี ราคาเกือบ 100,000 บาท กำลังป่วยติดเชื้อไวรัสลัมปีสกิน จนไม่สามารถลุกยืนได้ แม้จะพยายามหาทางรักษามานานนับเดือน อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แม่วัวตัวนี้มีลูกอายุ 4 เดือนต้องจับแยกออกมา หากตายทั้ง 2 ตัวก็ต้องขาดทุนกว่า 100,000 บาท

นายสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม ระบุว่า โรคนี้เริ่มแพร่ระบาดในเอเชีย ตั้งแต่ปี 2562 จากนั้นในปี 2563 พบการระบาดในภูฏาน เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และเมียนมา

แม้ประเทศไทยจะติดตามสถานการณ์ และประกาศชะลอการนำเข้าโคกระบือจากประเทศเมียนมา แต่ก็ยังพบหลุดรอดเข้ามาระบาดในประเทศ

ภาพ:กรมปศุสัตว์

ภาพ:กรมปศุสัตว์

ภาพ:กรมปศุสัตว์



ส่วนที่จ.ร้อยเอ็ด แม้เกษตรกรจะทราบว่า กรมปศุสัตว์จะสามารถนำเข้าวัคซีนโรคลัมปี สกินได้ภายในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ แต่พวกเขาก็มองว่าอาจช้าไป เพราะวัวที่ติดเชื้อก็ทยอยล้มตายไปมากแล้ว

ขณะที่หลายพื้นที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยจัดซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงและสัตว์รบกวน มอบให้กับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อควบคุมการใช้ยา หรือนำไปฉีดพ่นอย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของสัตว์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง