กทม.หารือ "บีทีเอส" แก้ภาระหนี้ 3 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียว

เศรษฐกิจ
25 พ.ค. 64
18:35
352
Logo Thai PBS
กทม.หารือ "บีทีเอส" แก้ภาระหนี้ 3 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียว
กรุงเทพธนาคม เรียกบีทีเอส หารือแนวทางแก้ไขภาระหนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เสนอรัฐบาล 3 แนวทาง ยืนยันเร่งแก้ปัญหาไม่กระทบผู้โดยสาร รอคำตอบชัดเจนอีก 2 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2564 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมทีมผู้บริหาร เข้ารับฟัง และร่วมหารือกับผู้บริหารกรุงเทพธนาคม (เคที) นำโดยนายปิยะ พูดคล่อง ประธานกรรมการบริษัท นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร “เรื่องแนวทางแก้ไขภาระหนี้ การเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” เพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ทางเคทีและทางบีทีเอส ได้นัดหารือ เรื่องของปัญหาหนี้สิน ที่ทางบีทีเอสได้ดำเนินการเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย (สำโรง-เคหะฯ) รวมระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี ซึ่งทางบริษัทฯ ยังไม่ได้ค่าจ้างเดินรถ ได้ทวงถามจำนวนหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท จากการหารือ คณะกรรมการบริหารของเคที ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามติดตามทวงถาม


เบื้องต้น ทางสภากรุงเทพมหานคร ฝ่ายบริหาร กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ส่งหนังสือไปทางรัฐบาลแล้วทั้ง 2 ฝ่าย ต้องการให้ทางรัฐบาลช่วยในเรื่องนี้ ตามแนวทาง 3 ข้อ ดังนี้

1) เห็นควรให้นำเรื่องการกำหนดสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานครขึ้นมาพิจารณาเพื่อหาข้อยุติ อันจะมีผลทำให้แบ่งเบาภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครได้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่เคยให้หลักการไว้

2) กรณีที่รัฐเห็นว่าการแบ่งเบาภาระหนี้ของกรุงเทพมหานคร สมควรใช้วิธีอื่นโดยให้เอกชนรับภาระ และให้ประโยชน์ตอบแทนในรูปของสัมปทานเดินรถ ก็สมควรดำเนินการตามแนวทางคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3 / 2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 โดยเร็วต่อไป

3) ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการข้างต้นได้ และกรุงเทพมหานครไม่อาจรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้น โดยที่รัฐไมได้ให้การสนับสนุนลงทุนร่วมกันได้ ตามหลักการที่เคยกำหนดไว้ เห็นควรส่งโครงการดังกล่าวกลับคืนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการต่อไป

บีทีเอสไม่ได้เป็นห่วงเรื่องสัมปทาน แต่ห่วงหนี้สิ้นที่ยอดสูงมาก เนื่องจากเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งต้องมีคำตอบให้ผู้ถือหุ้น โดยขณะนี้มีประชาชนถือหุ้นอยู่แสนกว่าราย และอยากให้การเดินรถเป็นไปอย่างไม่มีอุปสรรค ระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เราต้องเดินรถต่อไปให้ได้

รอเคาะคำตอบชัดเจนอีก 2 สัปดาห์

นายสุรพงษ์ ระบุอีกว่า แม้จะไม่ได้รับค่าจ้าง แต่บริษัทเกิดค่าใช้จ่ายขึ้นทุกวัน วันนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เพียงแต่หารือกันว่า มีแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายหรือไม่ ประกอบด้วยขณะนี้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และผู้โดยสารของรถไฟฟ้าลดจำนวนไปค่อนข้างมาก จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดเที่ยววิ่งลง เพื่อให้ค่าใช้จ่ายน้อยลง

อีกแนวทางหนึ่งคือ กทม.หรือ เคที จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งนับตั้งแต่สถานีสำโรง สถานีแรกที่เปิดให้บริการ จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 4 ปีแล้ว ที่ทางบริษัทฯ ยังไม่ได้เก็บค่าโดยสาร เบื้องต้นทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อเสนอของทั้ง 2 ฝ่าย ทางบีทีเอส และทางกรุงเทพธนาคม จะกลับไปคุยในรายละเอียดทั้งข้อดี ข้อเสีย และจะกลับมาคุยกันใหม่อีกครั้ง ใน 2 สัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ ระบุว่า ถึงแม้วันนี้ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่จะพยายามอย่างดีที่สุด และทำทุกวิถีทางให้ไม่กระทบต่อผู้โดยสาร และจะไม่หยุดการเดินรถอย่างแน่นอน

เราอยากให้ทุกคนทราบว่า ที่เราให้บริการเดินรถรับจ้างแล้วเราไม่ได้รับความยุติธรรม ส่วนเรื่องสัมปทานเป็นเรื่องการเจราของทางรัฐบาล และ กทม.

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง