WHO เลื่อนรับรอง "ซิโนแวค" หลังขอเอกสารเพิ่ม คาดพิจารณาภายใน มิ.ย.

สังคม
28 พ.ค. 64
11:36
5,482
Logo Thai PBS
WHO เลื่อนรับรอง "ซิโนแวค" หลังขอเอกสารเพิ่ม คาดพิจารณาภายใน มิ.ย.
องค์การอนามัยโลกเลื่อนการรับรองวัคซีนซิโนแวค คาดรู้ผลภายใน มิ.ย.นี้ ย้อนข้อมูลวัคซีนซิโนแวครอบเดือน พ.ค. พบผลประเมินใน 5 ประเทศ และ ศบค. เคยแถลงข่าวว่า วัคซีนนี้อยู่ระหว่างรอการรับรอง

วานนี้ (27 พ.ค.2564) เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้รับข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจ ว่าจะอนุญาตให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ของประเทศจีนหรือไม่ ภายใต้แรงกดดันจากนานาชาติ ที่จะช่วยกระจายวัคซีนไปยังประเทศที่ยากจน

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ขอรายะละเอียดเพิ่มเติม ทั้งเรื่องความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน และข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิต เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การอนามัยโลกคาดว่าการพิจารณาจะเลื่อนไปถึงเดือนมิถุนายนนี้

ต้นเดือน พ.ค. องค์การอนามัยโลก เผยผลวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค ที่ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ (SAGE) ซึ่งวิจัยจากการใช้ใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน บราซิล อินโดนีเซีย ตุรกี และชิลี โดยพบว่าประสิทธิผลหลังรับวัคซีนครบ 2 เข็ม 14 วัน ดังนี้

• ป้องกันการติดเชื้อ 67% (65-69%)
• ป้องกันการ Admit 85% (83-87%)
• ป้องกันการเข้า ICU 89% (84-92%)
• ป้องกันการเสียชีวิต 80% (73-86%)

ขณะที่ประสิทธิภาพวัคซีนที่ใช้ในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ได้แก่ ตุรกี 84% ,ชิลี 67% ,อินโดนิเซีย 65% ,บราซิล 51% ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 67 %

ทั้งนี้จุดอ่อนของซิโนแวค คือความปลอดภัยที่ใช้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีตัวอย่างน้อยเกินไป และผู้เชี่ยวชาญฯ ใช้คำว่า “Low level of confidence” หรือ “ไม่มั่นใจว่าฉีดให้คนอายุ 60 ปี จะมีผลข้างเคียงหรือไม่”

อ่านเพิ่ม Evidence Assessment : Sinovac/CoronaVac COVID-19 vaccinehttps://cdn.who.int/media/docs/default-source/immunization/sage/2021/april/5_sage29apr2021_critical-evidence_sinovac.pdf

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา https://www.hfocus.org/content/2021/05/21726 ถึงกรณีมีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลกดดันให้ผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค เร่งดำเนินการให้วัคซีน ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ว่า รัฐบาลจะไปกดดันได้อย่างไร และทำไมต้องไปกดดัน เพราะซิโนแวคเขาก็ทำหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว โดยยื่นเรื่องถึงองค์การอนามัยโลกแล้ว

ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ไปตรวจสอบโรงงานซิโนฟาร์ม และโรงานซิโนแวค แต่เขาตรวจสอบซิโนฟาร์มก่อน และรับรองก่อน จากนั้นก็ไปตรวจโรงงานซิโนแวค ก็อยู่ในขั้นตอน ส่วนจะรับรองหรือไม่รับรองก็เป็นเรื่องขององค์การอนามัยโลก

แต่วัคซีนซิโนแวคก็ถูกตรวจสอบ และรับรองจากสถาบันการแพทย์ไม่รู้กี่สถาบันว่าเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพสูง อย่างในไทยก็ได้รับการรับรองจากอย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจากข้อมูลต่างๆ จากการฉีดไปกว่า 3 ล้านโดส

ในประเทศไทย อย่าง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ฉีดของซิโนแวค พบว่า มีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเช่นกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นไปตามหลักการวิชาการต่างๆ ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีทางเอาวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพมาฉีดให้ประชาชน

เช่นเดียวกับ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ในการแถลงข่าว ศบค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีการรับรองวัคซีนซิโนแวคโดยองค์การอนามัยโลก

พญ.อภิสมัย ระบุว่า เบื้องต้นมีการรับรองวัคซีนของซิโนฟาร์มแล้ว ซึ่งลำดับถัดไป คือ วัคซีนซิโนแวค โดยกระทรวงสาธารณสุข กำลังติดตามการยืนยันที่เป็นเอกสาร ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักฐานเพื่อสนับสนุนการออกใบรับรอง หากทราบผลจะนำมารายงานโดยเร็วที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง