จับตา! วันแรกอภิปรายงบฯ ปี 65 รัฐบาลหั่นงบฯ เหลือ 3.1 ล้านล้านบาท

การเมือง
31 พ.ค. 64
08:16
2,231
Logo Thai PBS
จับตา! วันแรกอภิปรายงบฯ ปี 65 รัฐบาลหั่นงบฯ เหลือ 3.1 ล้านล้านบาท
วันแรก! ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท จับตารัฐบาลเสนอหั่นงบลดลงจากงบประมาณปี 2564 ถึง 185,962 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.66

วันนี้ (31 พ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้ โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 มีการปรับลดลงจากงบประมาณปี 2564 ถึง 185,962 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.66 ซึ่งวงเงินงบประมาณดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.87 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ


สำหรับงบประมาณในปี 2565 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 7 แสนล้านบาท โดยประมาณการจัดเก็บรายได้ 2.4 แสนล้านบาท บนสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4-5 ส่วนรายจ่ายประจำ 2,360,543 ล้านบาท หรือร้อยละ 76.15 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978 ล้านบาท รายจ่ายพื่อการลงทุน 624,399 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 100,000 ล้านบาท


สำหรับงบประมาณปี 2565 จำนวย 3,100,000 ล้านบาท จำแนกเป็น 8 กลุ่มงาน

  1. งบประมาณรายจ่ายงบกลาง 571,047 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.42
  2. งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,032,010 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.29
  3. งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 208,177 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.72
  4. งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 770,160 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.84
  5. งบประมาณรายจ่ายหรับทุนหมุุนเวียน 195,397 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.30
  6. งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 297,631 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.60
  7. งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.02
  8. งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.81

 

 

ปี 2564 งบขาดดุล 6.23 แสนล้านบาท

ส่วนงบประมาณปี 2565 เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงในช่วง COVID-19 โดยปี 2563 ขาดดุลงบประมาณ 4.69 แสนล้านบาท และในปี 2564 ขาดดุลงบประมาณ 6.23 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2565 มีคำของบประมาณจากหน่วยงานราชการ และหน่วยคำขอรับงบประมาณทั้งสิ้น 5.24 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณประจำ 2.36 ล้านล้านบาท และเป็นงบฯ ลงทุน 6.2 แสนล้านบาท

โดยการจัดทำงบประมาณได้รับเอาแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง คนชรา เด็กแรกเกิด คนพิการ รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งรวมกันเป็นวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท

ซึ่งส่วนใหญ่งบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้ปรับลดลง ส่วนงบประมาณอื่นที่ตัดลดลง เช่น งบประจำ งบประมาณที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อนำมาจัดสรรให้ได้ตามกรอบงบประมาณที่มี

ตั้งงบคืนเงินกู้ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ปี 2565 ได้ตั้งงบประมาณชำระคืนเงินกู้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย 170,000 - 180,000 ล้านบาท โดยเป็นการจ่ายในส่วนของเงินต้น 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 กว่า 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.22 ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเทียบกับปีงบประมาณ 2564 ที่ร้อยละ 3.01 ซึ่งการจ่ายคืนเงินกู้คืนเพื่อรักษาเครดิตประเทศไว้

ทั้งนี้ งบกลาง 571,047 ล้านบาท ถูกจัดสรรเป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน และจำเป็น 8.9 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่ได้ 99,000ล้านบาท ลดลง 10,000 ล้านบาท
 

4 แสนล้านบาท กระจาย 11 ส่วนงาน

ส่วนอีก 400,000 ล้านบาทเศษ เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือข้าราชการ และอื่น ๆ 11 รายการ คือ

1.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 800 ล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท ลดลง 200 ล้านบาท

2.ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2564 จำนวน 6,000 ล้านบาท ลดลง 1,000 ล้านบาท

3.ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจำนวน 2,300 ล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2564 ที่มี 2,500 ล้านบาท ลดลง 200 ล้านบาท

4.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ มีจำนวน 74,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบฯ 2564

5.ค่าชดเชยงานก่อสร้าง 500 ล้านบาท เท่ากับปีงบฯ 2564

6.เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2564 ที่มี 5,008 ล้านบาท ลดลง 648 ล้านบาท

7.เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จและบำนาญ 310,600 ล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2564 ที่มี 300,435.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,164.48 ล้านบาท

8.เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547.32 ล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2564 ที่มี 15,500 ล้านบาท ลดลง 3,952.67 ล้านบาท

9.เงินสมทบลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2564 ที่มี 640 ล้านบาท ลดลง 70 ล้านบาท

10.เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2564 ที่มี 69,707.10 ล้านบาท ลดลง 200 ล้านบาท

11.เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 89,000 ล้านบาท เทียบกับปีงบฯ 2564 ที่มี 99,000 ล้านบาท ลดลง 10,000 ล้านบาท

 

อ่านฉบับเต็ม : งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง