ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. เริ่มได้รับผลกระทบจากโควิด รอบ 3

เศรษฐกิจ
31 พ.ค. 64
14:44
223
Logo Thai PBS
ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. เริ่มได้รับผลกระทบจากโควิด รอบ 3
ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.เริ่มได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอก 3 ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

วันนี้ (31 พ.ค.2564) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.รายงานว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.2564 เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของ COVID-19

ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น

ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดระลอก 3

อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นจากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูป

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางอื่นๆ ทรงตัวในระดับสูง สอดคล้องกับการส่งออกที่ฟื้นตัว

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในระยะเดียวกันปีก่อน

ที่มีการเร่งเบิกจ่ายภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง สะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจที่มีอย่างต่อเนื่อง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้น เนื่องจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาพลังงานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง และได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดระลอก 3 โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย โดยดุลการค้าเกินดุลลดลง จากมูลค่าการนำเข้าที่เร่งขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง