ศบค.เฝ้าระวังคลัสเตอร์ใหม่ ห้างเขตลาดพร้าว ติดเชื้อ 23 คน

สังคม
2 มิ.ย. 64
12:58
6,893
Logo Thai PBS
ศบค.เฝ้าระวังคลัสเตอร์ใหม่ ห้างเขตลาดพร้าว ติดเชื้อ 23 คน
ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,440 คน เสียชีวิต 38 คน พร้อมระบุในกรุงเทพฯ มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังรวม 48 แห่ง ส่วนที่พบใหม่ เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เขตลาดพร้าว มีผู้ติดเชื้อ 23 คน

วันนี้ (2 มิ.ย.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทย ระลอก 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-2 มิ.ย.2564

พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,440 คน เป็นผู้ติดเชื้อทั่วไป 2,338 คน และติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,087 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 15 คน รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 136,599 คน เสียชีวิต 38 คน

ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,013 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 2,843 คน หายป่วยสะสม 87,152 คน และยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล 49,777 คน ทั้งนี้ หากนับรวมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 165,462 คน เสียชีวิตสะสม อยู่ที่ 1,107 คน และหายป่วยสะสม อยู่ที่ 114,578 คน

 

สำหรับผู้เสียชีวิต 38 คน ได้แก่ กรุงเทพฯ 18 คน, สมุทรปราการ 4 คน, ชุมพร และปทุมธานี จังหวัดละ 3 คน, ฉะเชิงเทรา นนทบุรี สุราษฎร์ธานี จังหวัด 2 คน, พระนครศรีอยุธยา ร้อยเอ็ด ราชบุรี อุดรธานี จังหวัดละ 1 คน

ปัจจัยเสี่ยงมาจากโรคประจำตัว สัมผัสติดเชื้อจากคนในครอบครัว มีอาชีพเสี่ยง และไปในสถานที่คนหนาแน่น แบ่งออกเป็นชาย 24 คน และหญิง 14 คน

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ ที่ต้องเฝ้าระวัง 48 แห่ง ซึ่งคลัสเตอร์ที่พบใหม่ แห่งที่ 48 ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เขตลาดพร้าว ที่มีผู้ติดเชื้่อ 23 คน

 

ส่วนคลัสเตอร์โรงงานถุงมือยางใน จ.ตรัง พบการแพร่ระบาดอย่างมาก ในพื้นที่ อ.กันตัง อ.เมืองตรัง และ อ.ย่านตาขาว ได้เน้นย้ำประชาชนห้ามข้ามพื้นที่

นอกจากนี้ ศบค.ชุดเล็ก มีการประชุมกรณีโรงงานแปรรูปไก่ จ.สระบุรี ซึ่งมีแรงงานชาวไทยประมาณ 4,000 คน และต่างชาติประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวกัมพูชา

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามีการติดเชื้อหลากหลายแผนก แผนกเตรียมวัตถุดิบ และพนักงานต้อนรับ ส่วนใหญ่แรงงานชาวต่างชาติจะอยู่อาศัยในที่พักที่จัดให้ และที่พักมีหลากหลายจังหวัด ห้องพักมีความแออัด โดยพักห้องละ 3-6 คนแต่กลับพบว่าพนักงานฝีมือและช่างติดเชื้อน้อย เนื่องจากมีการระมัดระวังเข้มข้นมาก

 

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในพื้นที่ 10 จังหวัด มีการระบาดในโรงงานและสถานประกอบการ เช่น โรงงานกะทิ, น้ำแข็ง, ซอส และสินค้าเด็ก สาเหตุมาจากสถานที่แออัด ระบายอากาศไม่เพียงพอ จุดสัมผัสที่ไม่สะอาด

ข้อมูลสถานประกอบการ รวม 63,029 แห่ง พนักงานรวม 3,466,482 คน ซึ่งขนาดใหญ่ที่มีพนักงาน 20 คนขึ้นไป จำนวน 3,303 แห่ง พนักงานรวม 1,811,255 คน

ขณะที่ขนาดกลาง พนักงานตั้งแต่ 51-199 คน จำนวน 10,287 แห่ง พนักงานรวม 945,810 คน ส่วนขนาดเล็ก ที่มีพนักงาน 0-50 คน จำนวน 49,439 แห่ง พนักงานรวม 709,417 คน

 

ทั้งนี้ จะมีการให้โรงงานประเมินตัวเองแบบ 100% ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ หากไม่ผ่านเกณฑ์จะมีกรมควบคุมโรคเข้าไปให้คำแนะนำและความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้กิจการและเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม กังวลว่าหากโรงงานไม่ให้ความร่วมมือซึ่งจะเป็นเหตุเชื้อแพร่กระจายไปพื้นที่อื่นได้ ขณะที่โรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่มีการขอให้หน่วยงานรัฐเข้าไปให้ความรู้ และปรับให้สอดคล้องกับการทำงาน

นอกจากนี้ ศบค.ชุดเล็ก มีการประชุมเกี่ยวกับแคมป์ก่อสร้างและไซต์งานก่อสร้าง ได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคงเข้าไปสนับสนุน กทม.เพื่อให้มาตรการควบคุมและป้องกัน COVID-19 ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนสถานการณ์โรค COVID-19 ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 171,927,802 คน อาการรุนแรง 90,672 คน รักษาหายแล้ว 154,407,182 คน เสียชีวิต 3,575,545 คน

ส่วน 5 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 34,136,738 คน 2. อินเดีย 28,306,883 คน 3. บราซิล 16,625,572 คน 4. ฝรั่งเศส 5,677,172 คน 5. ตุรกี 5,256,516 คน ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 82 จำนวน 165,462 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง