ศาลฯ ประสานสหรัฐฯ ขอข้อมูลคดีรับสินบนโตโยต้า

อาชญากรรม
4 มิ.ย. 64
13:02
338
Logo Thai PBS
ศาลฯ ประสานสหรัฐฯ ขอข้อมูลคดีรับสินบนโตโยต้า
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เผยเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีรายงานข่าวว่าอดีตผู้พิพากษาระดับสูงของไทย 3 คน เกี่ยวข้องกับการรับสินบนบริษัทโตโยต้า โดยประสานขอข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา และขอเข้าร่วมฟังการไต่สวนกับคณะลูกขุนที่รัฐเท็กซัส

วันนี้ (4 มิ.ย.2564) นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีอดีตผู้พิพากษาของศาลฎีกา 3 คน ถูกเว็บไซต์ Law360

รายงานข่าวกล่าวอ้างผลการสอบสวนภายในของบริษัท โตโยต้า คอร์ป ประเทศญี่ปุ่น ที่ระบุว่า เข้าไปเกี่ยวพันกับการให้สินบนจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จ่ายผ่านบริษัทสำนักงานกฎหมาย เป็นช่องทางจ่ายเงิน ให้กับอดีตผู้พิพากษาที่ถูกพาดพิง

เพื่อให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาในทางที่เป็นคุณแก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในเรื่องข้อพิพาททางภาษี จากการนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า พรีอุส ระหว่างปี 2555-2558 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ บริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย) จ่ายภาษีและค่าปรับกว่า 11,000 ล้านบาท เมื่อปี 2563

โดยชี้แจงไทม์ไลน์คดีนี้ว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง หน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษี คือ กรมศุลกากร และกรมสรรพากร

โดยฟ้องคดีแรก เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2558 ซึ่งศาลภาษีอากรกลาง พิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้แยกฟ้อง โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีเข้ามาใหม่อีก 9 คดีในวันที่ 31 พ.ค.2559 แต่วันที่ 10 มิ.ย.2559 มีการสืบพยานต่อสู้คดีกันเป็นระยะเวลา 1 ปีเศษ

ต่อมาศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาทุกคดีในวันที่ 29 ก.ย.2560 โดยพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นผลให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดทางภาษีอาการ

 

ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษา ของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ รับคดีเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2561

ต่อมาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากร ตามการประเมินของหน่วยงานรัฐ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ยื่นฎีกาและศาลฎีการับคดีไว้แล้ว

นายพงษ์เดช ยังเปิดเผยว่า การพิจารณาคดีนี้ในทุกชั้นศาลมีขั้นตอนและมีองค์คณะ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้สินบนหรือแทรกแซงผู้พิพากษาเพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ

ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวส่งผลกระทบ ต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทยต่อสายตาประชาชน และการลงทุนระหว่างประเทศด้วย จึงให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น และมีการประสานไปยังหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

รวมทั้งเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข่าว เพื่อนำข้อมูลมาประกอบ โดยจะตรวจสอบให้ความเป็นธรรมกับคู่ความต้องทำให้ความจริงปรากฏ

สำนักงานศาลฯ ยังได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีคดีภาษีอากรที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีตนเป็นประธาน และมีคณะทำงาน 10 คน เพื่อหาข้อมูลสนับสนุนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ประธานศาลฎีกาได้แต่งตั้งขึ้นมา

 

สำหรับคดีนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ในชั้นไต่สวนคดียังไม่ส่งฟ้องศาลหลังมีกระแสข่าวนี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา นายดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา และนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ ผู้ที่ถูกพาดพิง จากการเผยแพร่ข่าวผ่านเว็บไซต์ law360 (www.law360.com)

ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเพราะทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมกับปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว

สำหรับเรื่องราวดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Law360 (www.law360.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ข้อมูลกรณี บริษัท โตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น

ได้รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ SEC และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือน เม.ย.2563 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือ anti-bribery laws ของสหรัฐอเมริกา

และมีการพาดพิงถึงอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้พิพากษาฎีกา จำนวน 3 คน, สำนักกฎหมายแห่งหนึ่ง และพนักงานบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย อีก 3 คน

เกี่ยวข้องกับเรื่องรับสินบน เพื่อให้กลับคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีนำชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า พรีอุส ระหว่างปี 2555 - 2558 คิดเป็นมูลค่าเงิน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 11,000 ล้านบาท โดยมีกรมศุลกากรและกรมศุลกากรเป็นคู่คดี

 

เว็บไซต์ Law360.com รายงานตอนหนึ่งว่า บริษัทโตโยต้าสงสัยว่า ทนายความระดับอาวุโส ของบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย อาจจะมีส่วนกระทำการให้สินบน โดยทำสัญญาผ่านสำนักกฎหมายแห่งหนึ่งของประเทศไทย

เพื่อช่วยหาช่องทางให้ นำเงินสินบนไปมอบต่อกับผู้พิพากษา ที่มีตำแหน่งสูงสุดของไทยในขณะนั้น ผ่านอดีตหัวหน้าผู้พิพากษาและที่ปรึกษา

พบข้อมูลตามเอกสารด้วยว่า สัญญามีมูลค่า 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 844 ล้านบาท และได้จ่ายไปแล้ว 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 562 ล้านบาท เหลืออีก 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 281 ล้านบาท จะจ่ายเมื่อบริษัทชนะการอุทธรณ์อันเกี่ยวข้องกับคดีภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุสเมื่อช่วงปี 2562

ขณะเดียวกันก็พบว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินการทั้งหมดในฝ่ายของบริษัทโตโยต้าประเทศไทยมี 3 คน โดยทั้งหมดได้ลาออกจากบริษัทโตโยต้าประเทศไทย ในช่วงเวลาที่มีการสอบสวนการทุจริต ภายในของบริษัทโตโยต้าไปแล้ว

สำหรับผู้พิพากษาระดับสูงของศาลฎีกา 3 คน ที่ถูกระบุถึงนั้นมี 2 คน เป็นอดีตประธานศาลฎีกา ขณะที่อีกคนเป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์ อดีตที่ปรึกษาศาลฎีกา และยังเป็นอดีตประธานองค์กรอิสระเกี่ยวกับการตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน และเคยเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีภาษี ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง