ไทยเตรียมนำเข้าวัคซีน "จอห์นสันฯ -ไฟเซอร์" อีก 25 ล้านโดส

สังคม
4 มิ.ย. 64
15:53
15,618
Logo Thai PBS
ไทยเตรียมนำเข้าวัคซีน "จอห์นสันฯ -ไฟเซอร์" อีก 25 ล้านโดส
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน 7 มิ.ย.นี้ปักหมุดระดมฉีดวัคซีน COVID-19 ระบุเดือนมิ.ย.นี้ เตรียมจัดหาวัคซีนเพิ่ม 25 ล้านโดส เป็นวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟเซอร์ นายกรัฐมนตรี สั่งจัดหาเพิ่มปี 65 อีก 50 ล้านโดสเตรียมสำหรับเข็มที่ 3

วันนี้ (4 มิ.ย.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงสถานการณ์ COVID-19 เกี่ยวกับแผนกระจายวัคซีนว่า ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ เป็นหมุดหมายสำคัญรับมือโรค COVID-19 ของไทย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับว่า คนในแผ่นดินไทยทุกคนที่สมัครใจต้องรับการฉีดวัคซีน โดยไม่คิดมูลค่า

ซึ่งการจัดารจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีน ปริมาณต้องมีความสมดุลกัน ตอนนี้จุดในการฉีดบางแห่งรองรับเป็นหลักหมื่นคน

การฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.-31 พ.ค.นี้ ฉีดไปแล้ว 3,644,859 โดส จากวัคซีนที่กระจายไปแล้ว 4 ล้านโดส โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดสูง เช่น กทม.ฉีดแล้ว 1 ล้านโดส

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนปี 2564 เป้าหมาย 100 ล้านโดส และปี 2565 เพิ่มอีก 50 ล้านโดส อาจเป็นการฉีดวัคซีนในเข็มที่ 3 ให้ครอบคลุมการระบาดทุกสายพันธุ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเป็น 150 ล้านโดส เพราะข้อมูลวิชาการที่มีที่ต้องมีการฉีดวัคซีน เพื่อกระตุ้นอีกหนึ่งเข็มหนึ่ง และอาจจะต้องหาวัคซีนเพิ่ม

ข่าวดีมีวัคซีนเพิ่มอีก 2 ยี่ห้อ

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับวัคซีน 100 ล้านโดส มีการลงนามกับแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ส่งมาแล้ว 6 ล้านโดส ในปี 2464 ยังขาดอีก 33 ล้านโดส

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ให้จัดหาวัคซีนเพิ่มอีก เป็นจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และไฟเซอร์ รวม 25 ล้านโดส ส่วนอีก 8 ล้านโดสเป็นวัคซีนซิโนแวคซึ่งภายในเดือนนี้น่าจะมีข่าวดี

สำหรับจุดฉีดวัคซีนจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์ สถานพยาบาล เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และมีระบบติดตามภายหลังฉีดวัคซีน 30 วัน โดยขณะนี้มีจุดฉีดในต่างจังหวัดรวม 993 จุด พร้อมให้บริการในวันที่ 7 มิ.ย.นี้

ส่วน กทม.มีจุดฉีด 25 จุด สำนักงานประกันสังคมมี 25 จุด อีกจุดคือของทางมหาวิทยาลัยต่างๆ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวม 11 แห่ง

โดยมหาวิทยาลัยมีโควต้าวัคซีนประมาณ 500,000 โดส สำหรับบุคลากรของตนเอง และอาจเพิ่มเติมในประชาชนกลุ่มรอบๆ ซึ่งจะมีจุดฉีดมากกว่านี้

นอกจากนี้ ยังมีจุดฉีดกลางอีก 10 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันราชานุกูลสำหรับเด็กพิเศษและผู้ด้อยโอกาสผู้พิการ ศูนย์กลางแพทย์บางรัก จุดฉีดสำหรับต่างชาติ เป็นต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลัสเตอร์ใหม่! โรงชำแหละไก่ย่านลำลูกกาติดโควิด 854 คน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง