โควิดรอบ 3 ทำเอสเอ็มอีปิดกิจการ 2 หมื่นราย

เศรษฐกิจ
7 มิ.ย. 64
13:29
625
Logo Thai PBS
โควิดรอบ 3 ทำเอสเอ็มอีปิดกิจการ 2 หมื่นราย
ผลกระทบจากโรคโควิด 19 รอบ 3 กระทบธุรกิจเอสเอ็มอีฟื้นตัวได้ยากกว่าเดิม หน่วยงานที่ดูเเลเอสเอ็มอี ยอมรับว่า ผู้ประกอบการหลายรายสู้ไม่ไหว ต้องยอมปิดกิจการ เฉพาะ 3 เดือนเเรก ปิดไปเเล้ว 2 หมื่นราย

ยังมีอีกหลายรายที่ได้รับผลกระทบ เเละรอการช่วยเหลือ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่ ส่วนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ สสว.หน่วนงานดูเเล เอสเอ็มอี ยอมรับหลายรายสู้ไม่ไหว โดยมี สสว. ก็เตรียมมาตรการช่วยเหลือ โดยเตรียมออกโครงการเอสเอ็มอีคนละครึ่ง

นายวีระพงศ์ มาลัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม สสว. เปิดเผยว่า ภาพรวมประมาณเศรษฐกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส 1 ปี 2564 คาดว่าจะติดลบร้อยละ 4.8 จากเดิมที่คาดไว้ ติดลบร้อย 2 -2.4 เนื่องจากผลกระทบจากโรคโควิด 19 ระบาดรอบที่ 3 กระทบต่อรายได้ ภาระหนี้ ทำให้ยากต่อการฟื้นตัวของกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ชะลอตัวลง

โดยตัวเลขยอดปิดกิจการไตรมาสแรกปีนี้มีประมาณ 20,000 ราย สะท้อนจากการตัวเลขลูกจ้างที่ขอชดเชยจากประกันสังคม สูงร้อยละ 200 -300 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่หากเทียบความรุนแรงยังไม่เท่ากับช่วงที่เกิดการระบาดในรอบ 1 และ 2

ตัวเลขเปิดกิจการใหม่เพิ่มขึ้น 23,000 ราย เมื่อเทียบจากช่วงเดียวปีก่อนที่เปิดกิจการใหม่มีประมาณ 2 หมื่นราย เนื่องจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างงานหากิจการใหม่ เช่น การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

และบางธุรกิจปรับตัวหันมาขายออนไลน์ทำให้รายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจาก ธุรกิจเอสเอ็มอีส่งออกยังฟื้นตัวได้ เพราะตลาดต่างประเทศที่กลับมาดีขึ้น เช่น สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น

โดย สสว. กำลังจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้านยอดขายและลดค่าใช้จ่าย เช่น โครงการเอสเอ็มอีคนครึ่ง และการดึงเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบจัดซื้อจ้างภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย 1 แสนราย จาก 3 หมื่นรายปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อจำกัดงบประมาณปี 2565 เนื่องจากสสว.ถูกตัดร้อยละ 30 จากงบที่ขอไปทั้งหมด 1,000 ล้านบาท

เเต่จากการคุยกับเอสเอ็มอี คุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า จากที่สอบถามเอสเอ็มอีในหลายจังหวัดมีมากกว่าครึ่งที่ปิดกิจการแล้ว เพราะแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวและขาดรายได้ ขณะที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อภาครัฐได้ ทำให้หลายธุรกิจต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ ดังนั้น ธุรกิจส่วนใหญ่กำลังรอเงินกู้ซอฟโลนจาก ธปท. ที่กำลังปรับเกณฑ์ใหม่ โดยคาดหวังจะได้รับเงินกู้โดยเร็วมากกว่าได้ดอกเบี้ยต่ำ

ด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เตรียมจัดกิจกรรมเยียวยาวิสาหกิจชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรมออนไลน์ หรือ Virtual Event เชื่อมโยงผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 140 ร้านค้า เช่น ขายสินค้า และให้คำปรึกษาการเงิน วันที่ 11 – 15 มิถุนายน นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง