นายกฯสั่งเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ยูโรก่อนเปิดฉาก 2 วัน

กีฬา
11 มิ.ย. 64
18:15
341
Logo Thai PBS
นายกฯสั่งเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ยูโรก่อนเปิดฉาก 2 วัน
1 วันก่อนการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 เชื่อว่าแฟนบอลชาวไทยคงจะหมดหวังกับการได้ชมถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีไปแล้ว แต่เมื่อคืนนี้มีคำยืนยันถึงการเจรจาสายฟ้าแลบซื้อลิขสิทธิ์สำเร็จ

ค่าใช้จ่ายโดยรวมคาดว่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงที่จะขาดทุน เพราะหาผู้สนับสนุนไม่ง่ายแต่เบื้องหลังเรื่องนี้คือแนวคิดของนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน

 

หลายสมัยที่ผ่านมาภาคเอกชนต่างแข่งขันแย่งสิทธิการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร แม้ไม่ใช่ 1 ใน 7 การแข่งขันที่อยู่ในกฎ must have ที่ประชาชนต้องได้ดูทางฟรีทีวีเท่านั้น การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ครั้งนี้เกือบจะไม่มีผู้ซื้อเพราะที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์และเอกชนพากันติดลบกับโอลิมปิก 2016 และฟุตบอลโลก 2018

สุดท้าย การเจรจาสำเร็จแบบเส้นยาแดงผ่าแปด เพราะ 2 วัน ก่อนการแข่งขัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปหาทางเจรจาเพื่อให้คนไทยได้ดูการถ่ายทอดสด นำมาซึ่งการต่อรองกับบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรง

 

จากนั้นหาผู้สนับสนุนจากรัฐวิสาหกิจ 4 ราย และภาคเอกชนอีก 2 ราย โดยนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์จำกัด คือ ตัวแทนในการเซ็นสัญญาและจ่ายเงิน โดยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันการถ่ายทอดสดทั้ง 51 แมตช์ทาง NBT นั้นไม่ได้ใช้เงินจากรัฐบาล

นายอนุชา กล่าวว่า การถ่ายทอดทุกครั้งที่ผ่านมาดำเนินการโดยเอกชนและในปีนี้เหลือเพียง 2 วัน ประชาชนก็ถามว่าทำไมฟุตบอลยูโรปีนี้ไม่มีถ่ายทอดสด ซึ่งก็สะท้อนมายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและได้สั่งการให้ตนเองซึ่งกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ และ NBT ให้ช่วยดูเรื่องการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรให้ประชาชนเพราะมีเวลาอีกแค่ 2 วัน

จากนั้นจึงได้ประสานและปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และในฐานะที่ตนเองดูแลกรมประชาสัมพันธ์ และ NBT จึงประสานไปยัง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ถึงการเป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดฟุตบอลยูโรภายใน 2 วัน ซึ่งก็ได้รับแจ้งว่าสามารถดำเนินการได้

จากนั้นนายสมศักดิ์ และนายสุริยะได้ประสานไปยัง บ.ทรู คอร์ปฯ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการประสานลิขสิทธิ์ถ่ายทอด และเจรจาต่อรองและพยายามหาผู้สนับสนุน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

 

ด้านนายโกมล กล่าวว่า เบื้องหลังค่อนข้างฉุกละหุกเพราะมีเวลาเพียง 2 วัน และเมื่อทราบข่าวแต่เดิมสนับสนุนเพียง 10 ล้านบาท แต่เมื่อเดินหน้าไปจนนาทีสุดท้ายก็สะดุดทางเทคนิค ทั้งหน่วยรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งอาจติดขั้นตอนประกอบกับเวลาที่กระชั้นมาก ๆ

ผมยอมไม่ได้ที่จะให้พี่น้องคนไทยขาดความสุขในการชมฟุตบอลยูโรครั้งนี้ และในสถานการณ์ COVID-19 ประชาชนก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน และในด้านจิตใจและให้คนไทยจะมีความสุขมาก ๆ จึงขันอาสา ยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งที่จะสนับสนุน สัญญาส่วนใหญ่เรียบร้อยหมดแล้ว สามารถรับชมได้ 51 แมตช์แน่นอน

 

 

นอกจากค่าลิขสิทธิ์จำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีค่าใช้จ่ายด้านภาษี 15 % ซึ่งรวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายในต่างประเทศ และภาษีในประเทศ โดยรวมแล้วประมาณ 15 %  รวมกับค่าดำเนินการถ่ายทอดสดและเชื่อมโยงสัญญาณ ซึ่งอาจจะต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 20-50 ล้านบาท ต้นทุนการถ่ายทอดสดจึงไม่จบที่ 300 ล้านบาท

หลายสมัยที่ผ่านมาสุดท้ายแล้วผู้ที่คว้าลิขสิทธิ์ยูโรมักจะถอดใจยอมถอยเพราะทำกำไรไม่คุ้มค่าใช้จ่ายยูโร 2012 จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ คว้าสิทธิในราคาประมาณ 9 ล้านยูโร แต่ผลประกอบการขาดทุน และขายสิทธิให้กับ CTH ในยูโร 2016 จากนั้นไม่นาน CTH ก็ปิดกิจการ

ปัจจัยการถ่ายทอดสดในช่วงดึกที่ตรงกับเวลาไพร์มไทม์ของฝั่งยุโรปทำให้ขายโฆษณาลำบากจากเดิมที่เคยใช้คอนเนคชั่นซื้อตรงกับ มิเชล พลาตินี่ อดีดประธานยูฟ่าในยูโร 2012 เมื่อต้องเปลี่ยนมาการซื้อผ่านเอเจนซี่ทำให้ค่าลิขสิทธิ์และส่วนต่างเพิ่มขึ้น ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรจึงต้องทำใจกับตัวเลขทางการตลาดที่มักไม่เป็นไปตามเป้า แต่ก็ถือว่าได้สร้างความสุขให้กับคนไทย

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง