นพ.ยง ประเมิน 4-5 เดือนโควิด "เดลตา" แทนที่อัลฟา เหตุแพร่เร็ว 1.4 เท่า

สังคม
22 มิ.ย. 64
14:22
1,738
Logo Thai PBS
นพ.ยง ประเมิน 4-5 เดือนโควิด "เดลตา" แทนที่อัลฟา เหตุแพร่เร็ว 1.4 เท่า
"นพ.ยง" คาดอีก 4-5 เดือนโควิดสายพันธุ์ "เดลตา" หรือสายพันธุ์อินเดีย จะแทนที่สายพันธุ์อังกฤษ เพราะแพร่เร็วกว่า 1.4 เท่า ระบุวัคซีนเข็มเดียวยังไม่เพียงพอสร้างภูมิคุ้มกัน

วันนี้ (22 มิ.ย.2564) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ "เดลตา" หรือสายพันธุ์อินเดียว่า จะมีผลกระทบต่อการได้รับวัคซีนหรือไม่

การแถลงข่าวครั้งนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์อู่ฮั่นจากจีน ซึ่งแพร่ระบาดนอกประเทศ กระทั่งมีการระบาดสู่ประเทศทางยุโรป จนเกิดสายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษ มากขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมของจีน

นพ.ยง ระบุว่า การระบาด COVID-19 ระลอกแรกจากจีนและระลอก 2 เป็นสายพันธุ์อัลฟา ส่วนระลอก 3 เป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งแพร่กระจายรวดเร็วกว่า

ทั้งนี้จากการพยากรณ์โรคคาดว่าใน 4-5 เดือน ไทยจะพบการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตามากขึ้น เพราะสายพันธุ์นี้แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟา 1.4 เท่า ทำให้ต้องควบคุมโรคให้ได้มากที่สุด

ตามวัฎจักรการพยากรณ์ 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์ที่จะระบาดในไทยมากขึ้นน่าจะเป็นสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย  รวมทั้งทั่วโลก ในที่สุดก็จะเป็นสายพันธุ์เดลตา จากนั้นอาจมีสายพันธุ์อื่นเกิดขึ้นอีก

อ่านข่าวเพิ่ม กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังสายพันธุ์ "เดลตา" คาดระบาดในไทย 2-3 เดือนนี้

เร่งพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 สกัดเชื้อกลายพันธุ์ 

นพ.ยง กล่าวอีกว่า ความรุนแรงของโรค ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟา หรือเดลตา ไม่ได้แตกต่างกัน ทั้งนี้เชื้อไวรัสหลากหลายพันธุ์ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะเชื้อไวรัสที่นำมาทำวัคซีนเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ขณะนี้ผู้ผลิตหลายบริษัทกำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบสนองต่อเชื้อกลายพันธุ์

ส่วนสายพันธุ์เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบการแพร่กระจายโรคต่ำกว่าของสายพันธุ์อัลฟา ขณะที่สายพันธุ์เดลตา มีการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในสก็อตแลนด์ โดยใช้ทั้งวัคซีนของไฟเซอร์ และแอสตราเซเนกา พบว่าประสิทธิภาพลดลงอย่างน้อย 10%

เมื่อมาเจอสายพันธุ์ที่เปลี่ยน ก็เป็นไปได้ที่วัคซีนจะลดประสิทธิภาพ จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนในเจนเนอเรชันที่ 2 ให้ล้ำหน้าขึ้นไป เพราะการพัฒนาวัคซีนใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

 

นพ.ยง กล่าวอีกว่า สำหรับไทยการพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ต้องเน้นความปลอดภัยของประชาชน และดูผลข้างเคียงจากการสลับฉีดวัคซีนคนละยี่ห้อ ซึ่งต้องรอผลการศึกษาที่ชัดเจนก่อนว่าจะใช้แนวทางใด ก่อนจะปรับกลยุทธ์การฉีดวัควัคซีนในไทย

การป้องกันสายพันธุ์เดลตาต้องมีภูมิต้านทานที่ดีกว่า ถ้ารับวัคซีนเข็มเดียว ภูมิต้านทานก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงจะต้องชะลอสายพันธุ์เดลตาให้มากที่สุด

นอกจากนี้ นพ.ยง กล่าวถึงเรื่องการเปิดประเทศภายใน 120 วันว่า หากควบคุมผู้ป่วย COVID-19 ให้เหลือหลักหน่วยหรือหลักสิบ และอัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือ 1-2 คนต่อวัน ถึงเวลานั้นก็มีความเป็นไปได้ แต่หากเปิดประเทศในขณะที่พบผู้ติดเชื้อหลักพันคน ถึงเปิดประเทศไปก็ไม่มีใครอยากมา ดังนั้นทุกคนจะต้องร่วมมือกันควบคุมการระบาดของโรค 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอพร้อม" ปลดล็อกให้ รพ.จัดระบบคิวฉีดวัคซีน เริ่ม 25 มิ.ย.นี้

ไทยพบสายพันธ์ุเดลตาสะสม 348 คน ลาม 11 จังหวัด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง