"คลัง" ระบุยอดลงทะเบียน “ยิ่งใช้ยิ่งได้” น้อย คาดช่วยรัฐประหยัดงบฯ

เศรษฐกิจ
22 มิ.ย. 64
20:03
1,195
Logo Thai PBS
"คลัง" ระบุยอดลงทะเบียน “ยิ่งใช้ยิ่งได้” น้อย คาดช่วยรัฐประหยัดงบฯ
ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุหลังยอดลงทะเบียน "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ไม่เป็นไปตามเป้า คาดว่าผู้มีกำลังซื้อสูงไม่เข้าร่วมเพราะต้องการช่วยรัฐประหยัดงบฯ และขณะนี้ไม่มีแนวคิดออกมาตรการลดหย่อนภาษี หรือเกลี่ยเงินไปเพิ่มให้โครงการคนละครึ่ง

วันนี้ (22 มิ.ย.2564) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยอดลงทะเบียนโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" จนถึงเวลา 17.30 น. มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 310,000 คน คงเหลือสิทธิมากกว่า 3,600,000 สิทธิ ซึ่งนับจากเปิดระบบเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยอดลงทะเบียนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และเป็นไปได้ว่าผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอาจสนใจโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มากกว่า ซึ่งถือเป็นการดี ที่ผู้มีกำลังซื้อสูงต้องการช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ เนื่องจากโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ใช้วงเงินกู้ดำเนินโครงการสูงกว่า

คิดว่าประชาชนอาจอยากช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ เพราะโครงการนี้ใช้เงินกู้เยอะกว่า แต่คลังไม่มีแนวคิดออกมาตรการลดหย่อนภาษีอย่างช้อปช่วยชาติ 

ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า หากมีผู้เข้าร่วมโครงการไม่เต็มจำนวนที่ประมาณการไว้ 4 ล้านคน ก็ไม่มีแนวคิดจะออกมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างช้อปช่วยชาติ ตามที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเสนอ และยังไม่พิจารณาการเกลี่ยวงเงินกู้ไปดำเนินโครงการอื่น โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เสนอให้ขยายวงเงินใช้จ่าย จากเดิมคนละ 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท 

สำหรับการลงทะเบียนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้มีรายได้สูง ออกมาจับจ่ายใช้สอย วันละไม่เกิน 5,000 บาท แต่หากใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท จะได้รับ E-Voucher คืนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์สูงสุด 7,000 บาท 

ปลัดกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงแผนการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก. 500,000 ล้านบาทว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้ประชุมหารือกับเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อกำหนดกรอบการบริหารและแนวมาตรการ เบื้องต้นจะมุ่งออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างเจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและร้านอาหาร พร้อมย้ำว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนแผนการใช้เงินกู้ไปเพิ่มในส่วนของวัคซีนได้ และคล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม จากเดิมที่ดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และลดค่างวดตามกำลังแล้ว อาจลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0% หรือใกล้เคียง คาดว่าแบงก์รัฐจะรายงานกลับมาภายใน 1-2 สัปดาห์

ส่วนการปรับลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าแบงก์รัฐสามารถปรับลดเพดานดอกเบี้ยดังกล่าวได้ โดยไม่กระทบฐานะการเงิน แต่อาจต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มเติม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง