กรมการแพทย์ยอมรับเตียงในกทม.ใกล้เต็ม แนะล็อกดาวน์ตัวเอง

สังคม
23 มิ.ย. 64
11:27
2,418
Logo Thai PBS
กรมการแพทย์ยอมรับเตียงในกทม.ใกล้เต็ม แนะล็อกดาวน์ตัวเอง
อธิบดีกรมการแพทย์ แนะล็อกดาวน์ตัวเอง​ เข้มมาตรการทางสังคม​ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย​ ยอมรับเตียงรับผู้ป่วยใน กทม.ใกล้เต็มทุกกลุ่มสี

วันนี้ (23 มิ.ย.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ตรวจเยี่ยมห้องไอซียู COVID-19 ส่วนต่อขยายโรงพยาบาลราชวิถี​ ระบุสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ กำลังน่าเป็นห่วง ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน แตะระดับ 1,000 คนต่อเนื่องมานานกว่า 2​ เดือน

จนทำให้เตียง ICU ภาครัฐ สำหรับผู้ป่วยหนักในกลุ่มสีแดง ที่เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่เคยมีกว่า 200 เตียง และได้มีการเพิ่มไอซียูส่วนต่อขยายในรพ.ต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์อีกเท่าตัว จนมีเตียงไอซียูภาครัฐเพิ่มเป็น 440 เตียง

แต่ด้วยจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดปัญหาเตียงทั้งในกลุ่มผู้ป่วยสีแดง สีเหลือง และสีเขียว เฉพาะผู้ป่วยสีแดงในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้นี้เหลือเตียงแค่ประมาณ 20​ เตียงเท่านั้น

 

ขณะที่ โรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่ กทม.ที่มีอยู่เกือบ 200 แห่ง มีห้องไอซียู อยู่ 1-2 ห้อง และไม่มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอที่จะมาช่วยดูแลผู้ป่วย COVID-19 จึงไม่สามารถเข้ามาช่วยรองรับสถานการณ์ตอนนี้ได้

ขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามแก้ปัญหาทั้งบริหารจัดการเตียงไอซียู ด้วยการจัดโซนแบ่งพื้นที่ดูแล-ส่งต่อผู้ป่วย ล่าสุด​ หารือแนวทางร่วมกับกทม.ให้ชุมชนทำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล แยกผู้ป่วยออกจากชุมชนเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

เร่งฉีดวัคซีนผู้ป่วยติดเตียง 

ส่วนสถานดูแลผู้สูงอายุ หากพบผู้ดูแลติดเชื้อก็อาจให้ช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ติดเชื้อไปด้วยเลย ก่อนที่จะส่งต่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาล พร้อมกับประสานให้ กทม.เร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบการติดเชื้อสูงขึ้น เพื่อลดอัตราป่วยรุนแรง เสียชีวิต

นพ.สมศักดิ์​ กล่าวด้วยว่า​ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ​และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น​ เป็นการเจ็บป่วยสะสม​มาตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. พร้อมย้ำว่าต้องพยายามควบคุมโรค ลดอัตราการติดเชื้อให้ได้โดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็ยิ่งยากที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับไหว และยอดผู้เสียชีวิตก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

 

แนะล็อกดาวน์ตัวเอง

ทั้งนี้ ยืนยันยาฟาวิพิราเวีย ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดยังมีเพียงพอ และขณะนี้ได้ปรับให้ยาเร็วขึ้นด้วย แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีโรคร่วมก็จะให้ยาทันที และนำยาฟ้าทะลายโจรมาช่วยรักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่มีอาการ พร้อมย้ำขอให้ประชาชนกลับมาล็อกดาวน์ตัวเอง และป้องกันตัวเองตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้นอีกครั้ง

กทม.เตียงใกล้เต็ม 

ทั้งนี้​ ภาพรวมสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลวันที่ 21 มิ.ย. จากกรมการแพทย์ พบว่า ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง อย่างห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง ว่าง 46 เตียง หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง ว่าง 34 เตียง

ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง ห้องสามัญ ครอง 6,582 ว่าง 1,458 เตียง ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง 10,263 ว่าง 3,267 เตียง และเตียงสนาม ครองเตียง 2,541 เตียง ว่าง 803 เตียง

 

 

ศบค.ชุดเล็กหารือปัญหาเตียงวันนี้

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ศบค.ชุดเล็ก วันนี้ จะหารือประเด็นที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขดูแล และแก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอรองรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ส่วนจำเป็นต้องขอการสนับสนุนเพิ่มจากโรงพยาบาลทหารหรือไม่ ก็จะมีการหารือในวันนี้ด้วย 

สมุทรสาครเตียงใกล้เต็ม 

นอกจากนี้ สถานการณ์ระบาดระลอก เดือน เม.ย.2564 ภายใน จ.สมุทรสาคร รวมถึงการเป็นจังหวัดที่ต้องช่วยรับตัวผู้ป่วย COVID-19 ข้ามจังหวัดจากกรุงเทพฯ และจังหวัดรอบข้าง ส่งผลให้ขณะนี้ จ.สมุทรสาคร อยู่ในสถานการณ์ที่เตียงในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ทั้ง 11 แห่ง เต็มแล้วหลายแห่ง

ทั้งนี้โรงพยาบาลรัฐทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรสาคร, โรงพยาบาลกระทุ่มแบน และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ขณะนี้เหลือเตียงเพียง 63 เตียง จากจำนวนเตียงที่มี 541 เตียง

 

ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนใน จ.สมุทรสาคร ที่มีทั้ง 8 แห่ง อยู่ในสถานการณ์ที่เตียง COVID-19 เต็มเกือบ 100% แล้วเช่นกันจากจำนวนเตียงที่มีทั้งหมด 873 เตียง

แม้ที่ผ่านมา รพ.หลายแห่งในจังหวัดได้ปรับเพิ่มเตียง COVID-19 เพื่อรองรับสถานการณ์ระบาดแล้ว รวมถึงยังเป็นจังหวัดที่ช่วยสนับสนุนภารกิจรับตัวผู้ป่วย COVID-19 ข้ามจังหวัดจากกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง มาเข้าระบบโรงพยาบาลของ จ.สมุทรสาคร ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยนอกจังหวัดสะสมกว่า 1,500 คน

นพ.อนุกูล ไทยถานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ให้ข้อมูลว่า การระบาดระลอกเดือน เม.ย.2564 แตกต่างจากระลอกก่อน ซึ่งระลอกนี้มีหลายเคสที่เข้าโรงพยาบาลมาแบบติดเชื้อและมีอาการน้อย และมีอาการหนักมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง