เตียงเต็ม! โรงพยาบาลจุฬาฯ แจ้งปิดรับคัดกรองโควิด 24-27 มิ.ย.

สังคม
24 มิ.ย. 64
10:22
3,696
Logo Thai PBS
เตียงเต็ม! โรงพยาบาลจุฬาฯ แจ้งปิดรับคัดกรองโควิด 24-27 มิ.ย.
โรงพยาบาลจุฬาฯ ประกาศปิดคัดกรอง COVID-19 แล้ว เริ่ม 24-27 มิ.ย.นี้ สาเหตุไม่มีเตียงรับผู้ป่วย "อนุทิน" เล็งแก้วิกฤตเตียงใน กทม.-ปริมณฑล ไม่เพียงพอ เตรียมปรับโรงพยาบาลสนามในกทม.ดูแลผู้ป่วยโควิดอาการปานกลาง หรือระดับสีเหลือง

วันนี้ (24 มิ.ย.2564) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า คัดกรอง COVID-19 จุฬาปิด 4 วัน เริ่ม 24-27 มิ.ย.นี้ ไม่มีเตียงรับ แต่คนไข้ก็มาที่ ER อยู่แล้ว เพราะไปที่อื่นก็ไม่ได้ตรวจเช่นกันเนื่องจากตรวจแล้วต้องรับก็ไม่มีเตียงไม่มีคนดู กลายเป็นมีอาการก่อน จึงมา ER ชึ่งล้วนมีอาการปอดบวมแล้ว และอาการหนัก ไม่มีเตียง อยู่ดี ทุกโรงพยาบาลน่าจะเหมือนกันหมด

ทั้งนี้ ข้อความระบุอีกว่า 1.โรงพยาบาลสนามสีแดงแจ๋ เปิดได้แล้วที่รักษาคนไข้อาการหนัก จนกระทั่งสอดท่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ปัญหาคือเอาหมอพยาบาล และเจ้าหน้าที่มาจากไหน เพราะแต่ละจังหวัดเตรียมตัวรับได้เลยอีกไม่นานอาจจะเหมือนกัน

นอกจากนี้ การคัดกรองที่ทำมาตลอดเชิงรับ ตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปัจจุบันมีรุกเป็นบางจุด ส่งผลให้เห็นชัดเจนว่าไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ และยกระดับเป็นอาการหนักทั้งหมด

ขณะที่ วัคซีนที่ใช้ในโลกแห่งความจริง เห็นแล้วว่ามีติดได้ ถึงแม้จะน้อยลงแต่ข้อสำคัญคือเมื่อติดแล้วยังแพร่ต่อได้ปริมาณไวรัสมีจำนวนสูง จนน่าตกใจส่วนอาการอาจจะลดทอนลงบ้างแต่คงต้องห้ามทะนงตัวเด็ดขาด

และทุกคนในโรงพยาบาลทั้งคนรักษาพยาบาลและคนป่วยมีสิทธิ์ติดเชื้อได้หมดแม้ดูเหมือนคนปกติ สุดท้ายสถานการณ์โควิดในเชิงตั้งรับมาตลอดเช่นนี้ มาหนึ่งปีครึ่ง เหมือนกับหลายประเทศที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยเรียนจากความผิดพลาด ต้องการแต่คำสรรเสริญความสำเร็จ

 

 

ขณะที่ นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก Suppachok NeungPeu Kirdlarp ระบุว่า การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ที่กำลังทำสงครามกับโควิด โดยเชื่อว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 4,000 คน อาจไม่ใช่ยอดที่แท้จริง เพราะหลายแห่งไม่ยอมตรวจให้คนไข้ เพราะกังวลว่าจะต้องหาเตียงให้ 

 

 

"อนุทิน" ปรับ รพ.สนามใน กทม.ดูแลโควิดสีเหลือง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์เตียงผู้ป่วย COVID-19 ในพื้นที่กทม.ว่า กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาโรงพยาบาลบุษราคัม ช่วยดูแลผู้ป่วยอาการปานกลางหรือสีเหลือง ทั้งคนไทยและต่างชาติ เพื่อให้โรงพยาบาลหลักมีเตียงไอซียู ดูแลผู้ป่วยอาหารหนักมากขึ้น

ขณะนี้เตรียมยกระดับโรงพยาบาลสนามใน กทม.ให้รองรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองได้ ลดโอกาสผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นอาการหนัก เพื่อให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลักดูแลผู้ป่วยหนักมากขึ้น

นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้นช่วงเดือน ส.ค.นี้ โรงพยาบาลบุษราคัมจะหมดสัญญากับทางอิมแพค โดยจะยกระดับโรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ติดเชื้อได้จำนวนมาก อาจเปิดในพื้นที่สี่มุมเมือง รวมถึงศูนย์แรกรับนิมิบุตร หรือสนามกีฬาอินดอร์ สเตเดียม ซึ่งประสบการณ์ในการตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม สามารถตั้งขึ้นได้ใน 7 วัน มีอุปกรณ์ เครื่องช่วยหายใจ และยาพร้อม ยกเว้นเพียงไอซียู และบุคลากรจากโรงพยาบาลต่างๆ สลับหมุนเวียนกันทุก 2 สัปดาห์

เชื่อว่าจะสามารถอัพเกรดโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองได้มากขึ้น ทั้งหมดอยู่ในแผนอยู่แล้ว เราทำทุกอย่างให้ทันสถานการณ์

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับการระบาดของโรคในโรงงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะมาตรการ Bubble and Seal ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และตำรวจ ช่วยดูแลอย่าให้มีการเดินทางออกจากพื้นที่ Bubble and Seal โดยทีมควบคุมโรคจะเข้าไปคัดแยกผู้ป่วยตามอาการ เพื่อนำไปรักษาในโรงพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป แม้จะเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็ดูแลรักษาตามหลักมนุษยธรรมเพื่อป้องกันโรค 

ฉีด COVID-19 เข็ม 3 สลับยี่ห้อยังไม่สรุป

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนโควิด 3 เข็ม หรือฉีดสลับยี่ห้อ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการด้านวัคซีน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมปฏิบัติตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทดลอง ยืนยันว่าวัคซีนที่ประเทศไทยนำมาใช้มีประสิทธิภาพสูง อย่างซิโนแวคเราทำการศึกษาที่ภูเก็ต พบภูมิคุ้มกันสูงถึง 83% เป็นการศึกษาในสถานที่จริง

ส่วนกรณีสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ยังไม่มีวัคซีนชนิดไหนครอบคลุม แต่วัคซีนยังช่วยลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้ ขณะนี้มีวัคซีนทยอยจัดส่งและจัดสรรออกไปทุกสัปดาห์ โดยสามารถฉีดวัคซีนได้แล้ว 8.1 ล้านโดส

ส่วนกรณีนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาล่าช้า ไม่เกี่ยวข้องกับทางองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากตามหลักการของวัคซีนทางเลือกต้องให้ภาคเอกชนแจ้งจำนวนวัคซีนเข้ามาก่อน โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นตัวกลางหรือสะพานไปเจรจาให้ แต่ไม่ใช่การซื้อมาสต๊อกไว้แล้วนำมาขายต่อ และทางโมเดอร์นาก็แจ้งว่าสามารถส่งวัคซีนได้ในไตรมาส 4 ส่วนรายละเอียดองค์การเภสัชกรรม จะได้ให้รายละเอียดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง