ศบค.เตรียมเพิ่ม 400 เตียง รับผู้ป่วยเหลือง-แดง ระดมแพทย์จบใหม่ช่วย

สังคม
25 มิ.ย. 64
14:03
1,221
Logo Thai PBS
ศบค.เตรียมเพิ่ม 400 เตียง รับผู้ป่วยเหลือง-แดง ระดมแพทย์จบใหม่ช่วย
ศบค.ขยายเตียงรวมกว่า 400 เตียง รองรับผู้ป่วยสีเหลือง-แดง เตรียมระดมแพทย์จบใหม่ กว่า 2,000 คน ช่วยคุมโควิด ขณะที่ กทม.พบคลัสเตอร์ใหม่ 8 แห่ง พร้อมคัดกรองเข้มงวดเกณฑ์ทหาร 1 ก.ค.นี้ เตรียมขอวัคซีนฉีดทหารเกณฑ์-ครูฝึก

วันนี้ (25 มิ.ย.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ โควิด-19 ว่า รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3,644 คน

เป็นการติดเชื้อใหม่ 3,482 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ผู้ต้องขัง 162 คน ยอดป่วยสะสมตั้งแต่ เม.ย. 207,428 คน หายป่วยเพิ่ม 1,751 คน หายป่วยสะสม 165,680 คน เสียชีวิตเพิ่ม 44 คน

เสียชีวิต 44 คน

สำหรับผู้เสียชีวิต 44 คน เป็นชาย 26 คน หญิง 18 คน อยู่ใน กทม. 20 คน,สมุทรปราการ 12 คน ยะลา และสระบุรี จังหวัดละ 2 คน กาญจนบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี สมุทรสาคร จังหวัดละ 1 คน

กทม.คลัสเตอร์ใหม่ 8 แห่ง

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ กรุงเทพฯ คลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 107 แห่ง พบคลัสเตอร์ใหม่ 8 คลัสเตอร์ เขตบางขุนเทียน 3 คลัสเตอร์ บริษัท ผลิตถังแกสปิโตรเลียม 49 คน บริษัท ขนมขบเคี้ยว 33 คน บ.ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอาง 80 คน

เขตบางบอน บริษัท ผลิตเสื้อผ้า บางแค บริษัท ผลิตบรรจุภัณฑ์และภาชนะ และคลองสามวา 2 คลัสเตอร์ คือ แคมป์คนงาน ถ.พระยาสุเรนทร์ 40 คน และแคมป์ก่อสร้างคู้บอน 15 คน และเขตสวนหลวง แคมป์ก่อสร้างพัฒนาการ 38 จำนวน 198 คน จากคนงานทั้งหมด 233 คน

 

ขณะที่ต่างจังหวัด มีคลัสเตอร์ใหม่ 3 แห่ง ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ 129 คน จ.นนทบุรี อ.บางกรวย บริษัทผลิตภัณฑ์พลาสติก 9 คน

จ.นครปฐม อ.สามพราน โรงฆ่าสัตว์ ต.ท่าข้าม 5 คน จ.ปทุมธานี อ.เมืองปทุมธานี บริษัทผลิตลวดโลหะ 7 คน อ.ลาดหลุมแก้ว โรงงานขนม 56 คน และ จ.ฉะเชิงเทรา อ.บางปะกง บริษัทผลิตสี 12 คน

เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลือง-แดง

นอกจากนี้ ศบค.มีความเป็นห่วงสถานการณ์ในพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีแผนการขยายศักยภาพโรงพยาบาลและเตียงผู้ป่วย รองรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง รวม 471 เตียง

โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สีเหลือง 70 เตียง สีแดง 16 เตียง รพ.ราชพิพัฒน์ สีเหลือง 100 เตียง สีแดง 40 เตียง เริ่ม 10 ก.ค.64 (Modular ICU) เริ่ม 10 ก.ค.64

 

รพ.ธนบุรี (มณฑลทหารบกที่ 11) สีเหลือง 200 เตียง แดง 55 เตียง เริ่ม 2 ก.ค.64 คาดว่าใน 1 สัปดาห์ สามารถปรับพื้นที่และระดมบุคลากรเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ได้

พร้อมขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชนในการแบ่งเตียง และขอสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการเปิดเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

โรงเรียนแพทย์เสนอให้แพทย์จบใหม่ ประมาณ 2,000 คน จะสามารถเข้ามาช่วยในเดือน ก.ค.นี้ได้ และพยายามเพิ่มศักยภาพรองรับเตียงใน กทม.และปริมณฑล จะรายงานให้ทราบเป็นระยะ

กรุงเทพฯ คุมยากต่างจากสมุทรสาคร

ขณะที่ ศบค.สรุปสถานภาพ คลัสเตอร์ ที่ยังแพร่ระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป 1.คลัสเตอร์ที่ยังระบาดมากกว่า 28 วัน จำนวน 25 คลัสเตอร์ จำแนกเป็น แคมป์ก่อสร้าง 8 แห่ง ตลาด 6 แห่ง สถานประกอบการ 2 แห่ง ชุมชนและอื่นๆ 9 แห่ง

2.คลัสเตอร์ที่ยังระบาด 14-27 วัน จำนวน 13 คลัสเตอร์ จำแนกเป็น แคมป์ก่อสร้าง 3 แห่ง ตลาด 3 แห่ง สถานประกอบการ 5 แห่ง ชุมชนและอื่น ๆ 2 แห่ง ทั้งหมดกระจายใน 6 กลุ่มเขต (รวม 20 เขต )

ทั้งนี้การดำเนินมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลในพื้นที่กรุงเทพฯ จะแตกต่างจากกรณี จ.สมุทรสาคร ที่เมื่อมีการปิดให้โรงงานอยู่และใช้ชีวิตในนั้นได้โดยราว 28 วัน ก็ควบคุมและยุติการระบาดได้ แต่ กทม.บริบทของโรงงาน แคมป์คนงานนั้นระยะเวลา 28 วัน ยังไม่สามารถยุติการระบาดได้

 

ทั้งนี้เนื่องจากยังพบว่า ยังมีผู้ติดเชื้อเล็ดลอดไปยังชุมชน ซึ่งเมื่อปิดแคมป์แห่งหนึ่งก็มีการเคลื่อนย้ายไปแคมป์อีกแห่งจนทำให้เกิดการแพร่ะระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การแพร่กระจายในหลายเขต มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน แคมป์คนงาน โรงงาน ตลาด และชุมชน กรณีที่มีข้อเสนอล็อกดาวน์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ก็มีความเป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจทำให้เตียงไม่เพียงพอและอาจรองรับไม่ไหว

พญ.อภิสมัยย้ำว่า ที่ประชุม ศบค.เน้นย้ำว่า รับฟังทุกฝ่ายโดยเป็นห่วงเรื่องเตียง และพยายามขยายศักยภาพ โดยผอ.ศบค.เน้นย้ำมาตลอดขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด รวมถึงผู้ประกอบการและสถานประกอบการได้ยื่นเรื่องให้ทบทวนมาตรการล็อกดาวน์ เช่น หากร้านอาหาร 1 แห่งปิดก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

3 เงื่อนไขล็อกบางจุด

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้เสนอการล็อกเป็นจุด โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1.ปิดพื้นที่ความเสี่ยงสูง 2.ปิดเฉพาะบุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น ในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติ 3.และปิดในกิจกรรม กิจการเสี่ยง มากกว่าการปิดทั้งหมด เช่น กรณีของต่างจังหวัดอาจไม่ต้องปิดล็อดาวน์ทั้งจังหวัดแต่มีการหารือว่าพื้นที่ใดเสี่ยงก็จะล็อกเฉพาะจุดนั้น เช่นบางตำบล 

นอกจากนี้ กรณีการล็อกดาวน์ ก็อาจจะมีผลกระทบจนทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ เช่นกันเช่น โรงเรียน​มัรกัส จ.ยะลา ที่เมื่อปิดโรงเรียน ก็มีการเดินทางกลับบ้านในจังหวัดอื่น ๆ และทำให้มีการแพร่ระบาดในพื้นที่อื่นเพิ่มขึ้น

ศบค.ตลาดสี่มุมเมือง คุมโควิด-ขับเคลื่อนศก.

พญ.อภิสมัย ยังยกตัวอย่างกรณีตลาด 4 มุมเมือง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ตลาดดังกล่าวมีค้าขายข้ามจังหวัด ประชากรหมุนเวียนราว 30,000-40,000 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานขนสินค้ารวมแรงงานต่างชาติราว 500 คน พ่อค้าแม่ค้า แรงงานอยู่ที่วันละ 20,000 คน มีคนเข้า-ออกราว 20,000 คน แผงค้าที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกว่า 4,000 แผง

 

ทางจังหวัดพยายามควบคุมโรคอย่างเข้มงวด และพยายามประคับประคองการค้าขายได้ เนื่องจากเป็นตลาดค้าขายผักสด ผลไม้ และอาหารต่าง ๆ และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการอื่นเช่น ฟาร์มหมู แผงผักผลไม้ ร้านอาหารตามสั่ง

ดังนั้นจึงมีการตั้งวอร์รูม หรือ "ศบค.ตลาดสี่มุมเมือง" โดยผู้ว่าฯ ให้อำนาจการในการบริหารจัดการตลาดในการตัดสินอย่างทันท่วงที โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน 1.ผู้ว่าฯ คณะกรรมการควบคุมโรค และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ รวมถึงตำรวจ มหาดไทย และฝ่ายปกครอง ขณะที่ 2.ผู้ประกอบการ และ 3.ผู้ซื้อและแรงงาน

ทั้งนี้ ภายในตลาดจะมีรถตรวจคัดกรองตั้งอยู่ในตลาดเพื่อตรวจหาเชื้อได้ทันทีหากมีผู้ติดเชื้อและเจ้าหน้าที่ก็ปรับเวลาให้สอดคล้องกับตลาดโดยปฏิบัติหน้าที่ในเวลา 08.00- 03.00 น.เนื่องจากตลาดเปิด 24 ชม. และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในตลาดเก่า เรียกว่า "รพ.สนามบุญรักษา"

ความพยายามของจังหวัดที่จะควบคุมโรคให้อยู่ในวงที่ควบคุมได้และให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ การปิดอาจไม่ใช่การตอบโจทย์ทั้งหมด ทั้งเศรษฐกิจและสาธารณสุข

เตรียมพร้อมรับทหารเกณฑ์ผลัดใหม่ 1 ก.ค.

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะมี การเกณฑ์ทหารเกณฑ์ผลัดใหม่ ทุกเหล่าทัพ จำนวน 60,000 นาย โดยจะรายงานตัวในวันที่ 1 ก.ค.ทั่วประเทศ โดยรายงานตัว ณ ที่ว่าการอำเภอ โดยมีมาตรการคัดกรองอย่างเคร่งครัดก่อนเคลื่อนย้ายไปยังค่าย และเมื่อแยกย้ายไปถึงค่ายจะมีการกักตัว 14 วันเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกองทัพ

 

ขณะที่ผู้ที่มีประวัติหรือมาจากพื้นที่เสี่ยงจะมีการตรวจคัดกรอง ขณะที่จังหวัดปลายทาง ผู้ว่าฯต้องย้ำมาตรการของจังหวัด และในช่วงวันที่ 1-3 ก.ค.ขอให้งดเว้นการส่งลูกหลานของผู้ปกครอง ในการเข้าประจำการ รวมถึงมีการขอวัคซีน เพื่อฉีดให้กับทหารใหม่ รวมถึงครูฝึกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง