ไลน์ TUK-UP เรียกตุ๊กตุ๊ก-ติดป้ายวันเกิด ต่อลมหายใจสามล้อตกงาน

เศรษฐกิจ
25 มิ.ย. 64
18:15
2,554
Logo Thai PBS
ไลน์ TUK-UP เรียกตุ๊กตุ๊ก-ติดป้ายวันเกิด ต่อลมหายใจสามล้อตกงาน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดใจ “โต๊ด” ฐิติพงศ์ โลหะเวช ทายาทอู่เฮียซ้งในวัย 21 ปี เจ้าของไอเดีย "ไลน์ TUK-UP" เรียกตุ๊กตุ๊ก-ติดป้ายวันเกิด ต่อลมหายใจสามล้อตกงาน พลิกรายได้จาก 0 สู้โควิดระลอก 3
อู่ตุ๊กตุ๊กบ้านผมเปิดมาเป็น 10 ปี ผมเห็นน้า ๆ ตั้งแต่เด็ก ป๊าสอนว่า ถ้าไม่มีคนขับ ก็ไม่มีวันนี้ ทั้งค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ ทุกอย่างที่ได้มา ก็มาจากน้า ๆ เวลาลำบากก็ต้องช่วยกัน พอเวลาเรามี เราก็มีด้วยกัน ผมเลยทำ TUK-UP ขึ้นมา

“โต๊ด” ฐิติพงศ์ โลหะเวช ทายาทอู่เฮียซ้งในวัย 21 ปี เล่าที่มาของไลน์ออฟฟิเชียล @TUK.UP บริการเรียกรถตุ๊กตุ๊กผ่านไลน์ให้ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ฟัง ระหว่างเดินพูดคุยกับคนขับตุ๊กตุ๊กหน้าอู่ในซอยโรงถ่าน ย่านศาลาแดง


หลังพิษ COVID-19 ระบาดซ้ำหลายระลอก ทำรายได้ที่บ้านกลายเป็น 0 จากคนขับตุ๊กตุ๊กที่เคยมีรายได้วันละหลักพัน แม้จะมีคู่แข่งมากหน้าหลายตา ในวันนี้สังเวียนชีวิตไม่มีแม้แต่สนามให้แข่งขัน เพราะรัฐปิดประเทศ คนไทยไม่ออกจากบ้าน TUK-UP จึงเกิดขึ้นมาเพื่อฉุดรั้งคนขับในอู่ที่สิ้นหวังกับเส้นทางขับสามล้อ และกำลังจะหันหลังกลับบ้านเกิด

"ผมเกิดมาลำบากมาก่อน แต่โควิดหนักสุด เพราะเหมือนห้ามทุกคนทำมาหากิน รายได้มัน 0 จริง ๆ คือมันไม่มีเลย ระลอกแรกยังพอกัดฟันสู้ไหว เพราะมีเงินเก็บ ระลอก 2 เริ่มไม่ไหว ระลอก 3 เหมือนตอกฝาโลงให้เราไม่เหลืออะไร แต่เรายังเหลือชีวิตอยู่ ก็ต้องสู้"


แม้จะทำหน้าที่นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เต็มเวลา อ่านหนังสือสอบจนแทบไม่ได้นอน แต่ “โต๊ด” ฐิติพงศ์ ยังกัดฟันร่วมมือกับเพื่อนในคณะสร้างไลน์ออฟฟิเชียล TUK-UP บริการเรียกตุ๊กตุ๊กผ่านไลน์ในเส้นทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศาลาแดง ราคาครั้งละ 30 บาท พร้อมบริการติดป้ายวันเกิดศิลปินทั้งไทย เกาหลี และจีนมาช่วยกู้วิกฤตให้ครอบครัวใหญ่

น้าบางคนไม่มีสมาร์ตโฟน พอเข้า TUK-UP ยังใช้ไม่เป็น ผมก็ต้องเรียน ๆ เพื่อออกมาสอน บางครั้งก็เรียก น้าผมไปกับน้าเอง ให้เขาไปส่งผมใกล้ ๆ ลูกค้า คอยช่วยกันไป ถ้าผมไม่ทำ มันไม่มีรายได้ มันไปต่อไม่ได้ ไม่ใช่แค่น้า ๆ อู่ผมก็ไปต่อไม่ได้

เทรนด์ติดป้าย - แฟนคลับใจดี เสริมรายได้สามล้อ

“โต๊ด” ฐิติพงศ์ เล่าพร้อมรอยยิ้มว่า เทรนด์ของเหล่าแฟนคลับศิลปินที่นิยมติดป้ายวันเกิดหรือฉลองวันสำคัญ เป็นหนึ่งในรายได้หลักของคนขับตุ๊กตุ๊กในช่วง COVID-19 ระลอก 3 ทั้งรายได้จากการติดป้าย รวมถึงการประสานผ่านไลน์ ให้คนขับไปหาเพื่อถ่ายรูป สินน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ จากแฟนคลับนับเป็นรางวัลให้ทุกคนมีแรงสู้ต่อ ซึ่งลูกค้าไม่ได้มีเพียงคนไทยเท่านั้น คนไต้หวัน อินโดนีเซีย หรือคนเมียนมาก็ทัก DM มาทางทวิตเตอร์เพื่อทำโปรเจ็กด้วย

ติดป้ายศิลปินผมมีบริการประสานผ่านไลน์ให้ไปหา เพื่อถ่ายรูป ลูกค้าก็ใจดีมาก ให้สินน้ำใจกับคนขับตุ๊กตุ๊กโดยตรง ตอนโปรเจ็ก “พีพี – บิวกิ้น” น้า ๆ ได้ทิปเยอะมาก มันช่วยเขาได้มากจริง ๆ น้าเขานั่งทั้งวัน ไม่มีคน แต่ได้ตรงนี้ ก็เป็นรางวัลแบบวันต่อวัน ให้เขามีแรงสู้ต่อ

 

นอกจากการรับ-ส่งคน และติดป้ายศิลปินแล้ว อีกบริการที่เล็งเห็นถึงโอกาสของตุ๊กตุ๊ก คือ บริการรับส่งสัตว์เลี้ยงจากโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปละแวกใกล้เคียง “โต๊ด” ฐิติพงศ์ ในฐานะนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ ไม่รอช้า สอบถามอาจารย์ขออนุญาตติดคิวอาร์โคดบริเวณลิฟต์ของโรงพยาบาล เพราะ 1 คนที่เห็นหรือคิดถึง TUK-UP มากขึ้น หมายถึง รายได้ที่เพิ่มขึ้นของครอบครัวอู่เฮียซ้งด้วย

“โต๊ด” ฐิติพงศ์ ทิ้งท้ายเป้าหมายด้วยสายตามุ่งมั่นว่า อยากเริ่มทำสตาร์ทอัปเป็นของตัวเอง เพิ่มทัวร์ตุ๊กตุ๊กให้นักท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมันว่าตุ๊กตุ๊กปลอดภัย มีเวลารับ - ส่งชัดเจน มีคนขับไว้ใจได้ ยกระดับตุ๊กตุ๊กที่เป็นกิมมิคของประเทศไทยอยู่แล้ว ให้แข่งขันกับนานาชาติได้

วันนี้ผมเริ่มสานต่ออู่พ่อแล้ว กับการทำ TUK-UP แต่ Passion ของผม คือ อยากวิ่งตุ๊กตุ๊กให้มีราคาที่เหมาะสม เพราะค่าโดยสารในประเทศเรามันสูง ผมอยากสร้างตุ๊กตุ๊กที่ราคาอยู่ในเรตผู้โดยสารรับได้ อย่าง 30 บาทที่ทำอยู่ก็อยากให้มันครอบคลุมทุกพื้นที่

เปิดอู่สามล้อมา 10 ปี วิกฤตครั้งนี้หนักที่สุด

เปิดมา 10 กว่าปี วิกฤตนี้มันหนักที่สุด บางวันคนขับกลับมาบอกว่าเฮียผมได้ 80 บาท ก็บอกว่า เออ เก็บไว้กินข้าวเถอะ ช่วย ๆ กัน เพราะเขาอยู่กับเรามาตั้งแต่ตอนไม่มีอะไร ตอนนี้เรายังมีอยู่ก็ต้องช่วยเขา เพราะถ้าไม่มีเขาในวันนั้น ก็ไม่มีเราในวันนี้


ศุภชัย แซ่คู เจ้าของอู่สามล้อเฮียซ้ง ในวัย 52 ปี กัดฟันดาวน์รถสามล้อทีละคัน หาเงินผ่อนจนกลายเป็นเจ้าของ พร้อมดูแลลูกน้องคนขับในอู่อีกหลายสิบชีวิต ยอมรับว่า COVID-19 ถือเป็นวิกฤตหนักสุดในชีวิต จนลูกน้องบางคนที่อยู่กันมานานจนเป็นครอบครัวขอลากลับบ้านเกิด เพราะหมดแรงสู้ในเมืองกรุงต่อ

สามล้อแย่นะ แต่ละอู่จอดตายสนิท บางคันที่ไม่ออกวิ่ง ผมต้องโทรไปที่สหกรณ์ ขอระงับการต่อทะเบียน เพราะมันเป็นรายจ่าย เราต้องทำทุกอย่างเพื่อตัดรายจ่าย พยุงให้เราอยู่รอด เพราะเราไม่รู้ว่าโควิดมันจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน และจะจบตรงไหน 

ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเริ่มต้นลงมือทำ

เจ้าของอู่สามล้อเฮียซ้ง ย้อนความหลังถึงวิกฤตการเมืองในประเทศหรือวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ แม้จะสร้างรอยแผลไว้สาหัส แต่ไม่นานก็หายไป ขณะที่วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ยังมองไม่เห็นปลายทาง เงินทุนที่เก็บออมเริ่มร่อยหรอ เหมือน "เอาทุนเก่ามานั่งกิน" รายได้ไม่มีมาชดเชย ลูกชายก็เข้ามาเสนอเรื่อง TUK-UP ทำให้อู่เฮียซ้งเริ่มเห็นแสงสว่างขึ้นมาบ้าง

มันไม่มีอะไรจะดีไปกว่าที่เราเริ่มทำ เพราะตอนนั้นมันไม่มีอะไรเลย แล้วโต๊ดไม่ได้ใช้ทุน แค่เราไปคุยกับคนขับว่า ไปขับไหม ขับฟรี เฮียช่วยค่าแก๊ส เพราะจากอู่ไป ม.เกษตร มันไกล รายได้เท่าไหร่ คุณเอาไปหมดเลย เพราะถือว่าเราช่วยกัน

วันนี้แม้รายได้ทั้งหมดจะหายไปกว่า 90% แต่เฮียซ้ง ศุภชัย ยังหวังว่า เศรษฐกิจจะไต่ระดับดีขึ้นเรื่อย ๆ ไปตามกลไกตลาด พร้อมติดต่อพรรคพวกเจ้าของอู่และเจ้าของรถตุ๊กตุ๊กเข้าร่วม TUK-UP เพื่อประคับประคองกันให้อยู่รอดไปจนถึงวันที่พ้นวิกฤต

 

พิษโควิดซ้ำ คนขับสามล้อ "กินข้าวไม่อิ่ม-กู้เงินใช้รายวัน" 

"สิทธิพงษ์ พันธ์ทัศน์" อายุ 39 ปี หนึ่งในคนขับรถตุ๊กตุ๊กของอู่เฮียซ้ง เล่าว่า เมื่อก่อนอย่างน้อย ๆ ต้องได้เงินวันละ 1,000 บาท ทุกวันนี้ 100 – 200 บาท ยังหายากก็ต้องดิ้นรน ทำทุกทางเพื่อให้ได้เงิน บางทีต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว ที่เข้า TUK-UP เพราะคิดว่าเป็นช่องทางที่จะช่วยหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้


ไม่ต่างจาก "ไพโรจน์ สุขธรรม" คนขับรถตุ๊กตุ๊ก วัย 55 ปี ยึดอาชีพคนขับตุ๊กตุ๊กที่อู่เฮียซ้งมานานหลายสิบปี ยอมรับว่า โควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนักที่สุดตั้งแต่เผชิญมา แม้แต่เงินกินข้าวยังไม่มี รายได้จากหลักพันเหลือ 0 บาท ค่าเช่าบ้าน เช่ารถตุ๊กตุ๊กก็ไม่มีจ่าย  

ทุกวันนี้กินข้าวไม่เคยอิ่ม เพราะกินอิ่มไม่ได้ รายได้ไม่พอ บางวันไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ยังต้องขอเฮีย วิ่งทั้งวัน แก๊สหมด คนไม่ขึ้น จะเอาเงินที่ไหนกินข้าว เมื่อก่อนค่าเช่า 350 บาท จิ๊บๆ แต่ตอนนี้สูงสุดได้ 100 บาท รายได้เป็น 0 ไม่มีอะไรจะหนักไปกว่านี้แล้ว

เมื่อ “โต้ด” ฐิติพงศ์ ทำ TUK-UP ขึ้นมา ช่วยสร้างรายได้จากการติดป้ายวันเกิด ทำให้มีเงินจุนเจือครอบครัว โดยเฉพาะลูกที่กำลังเรียนอยู่อีก 2 คน ขณะที่เจ้าของอู่สามล้อเฮียซ้ง ก็คอยช่วยเหลือค่าแก๊ส ไม่เก็บค่าเช่าบ้าน - ค่าเช่ารถ หวังให้พ้นวิกฤตไปด้วยกัน

ยังดีที่มีเฮียช่วย กับหมอโต๊ด ที่หางานติดป้ายโฆษณามา เมื่อก่อนไม่มีโฆษณา อยู่แบบมืดมน แต่ละเดือนไม่มีความหวังอะไร แต่มาช่วยทุกคนมีความหวัง แต่ละเดือนได้รับเงิน แม้จะไม่มาก แต่ก็ทำให้อยู่ได้ จากที่ไม่มีอะไร


จากคนให้บริการเต็มที่ คนรับบริการก็แฮปปี้ไม่แพ้กัน นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 หนึ่งในผู้ใช้บริการ เล่าว่า ใช้บริการ TUK-UP เพื่อเดินทางระหว่างหอพัก - คณะที่เรียน ช่วยประหยัดทั้งเวลารอรถ และค่าใช้จ่ายที่หารกับเพื่อนอีก 2 คน ตกเพียงคนละ 10 บาทเท่านั้น 

นอกจากนี้ ยังเคยใช้บริการป้ายวันเกิดศิลปินเกาหลีอย่าง จีฮุน วง TREASURE ที่ TUK-UP มีบริการออกป้ายพร้อมติดป้ายให้รอบคัน ในราคาประมาณ 1,000 บาท โดยเลือกให้ไปจอดโปรโมตบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ สถานีรถไฟฟ้า BTS ก็ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปจำนวนมาก ทำให้รู้สึกคุ้มกับเงินที่จ่ายไปจนยิ้มไม่ฮุบ

สำหรับ TUK-UP มี 3 บริการให้เลือกใช้ 1.รับส่งคนเดินทางในเส้นทางละแวกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริเวณศาลาแดง โดยคิดค่าบริการครั้งละ 30 บาท บริการที่ 2 คือ รับติดป้ายวันเกิดศิลปิน ดารา นักร้อง หรือคนใกล้ชิด ติดโฆษณา 1 เดือนเต็ม พร้อมบริการออกแบบป้ายและถ่ายรูปด้วย สร้างรายได้ช่วยคนขับในอู่ไปจนถึงเครือข่ายคนขับอู่อื่น ๆ ด้วย

บริการสุดท้าย เนื่องจากเป็นนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จึงมีบริการรับ-ส่งสัตว์เลี้ยงจากโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปละแวกใกล้เคียง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง