ยืนยันคนแรก "โควิดเบตา" ใน กทม. - รอผลตรวจญาติ 2 คน

สังคม
28 มิ.ย. 64
11:11
2,465
Logo Thai PBS
ยืนยันคนแรก "โควิดเบตา" ใน กทม. - รอผลตรวจญาติ 2 คน
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ใน กทม. 1 คน สันนิษฐานติดเชื้อจากลูกที่เดินทางมาจาก จ.นราธิวาส หมอระบุยังคุมได้ เพิ่งพบเพียง 1 คน ส่วนการรระบาดสายพันธุ์เดลตา ยังน่าห่วง 1 สัปดาห์พบเพิ่มอีก 459 คน รวมสะสม 1,120 คน

วันนี้ (28 มิ.ย.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงกรณีรายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ในพื้นที่ กทม. 1 คน โดยระบุว่า ผู้ป่วยเป็นลูกจ้างที่อาศัยอยู่ใน กทม. พบประวัติลูกเดินทางมาจาก จ.นราธิวาส โดยยังไม่มีอาการป่วย แต่เมื่อกลับไป จ.นราธิวาส เริ่มไม่สบาย จึงไปตรวจก่อนพบติดเชื้อ COVID-19 ผู้ป่วยจึงไปตรวจและพบติดเชื้อเช่นกัน

สำหรับญาติอีก 2 คน เบื้องต้น ตรวจพบติดเชื้อ COVID-19 อยู่ระหว่างตรวจสายพันธุ์ ส่วนเพื่อนร่วมงานของผู้ป่วยอีก 7 คนไม่พบติดเชื้อ จึงสันนิษฐานได้ว่าติดเชื้อจากลูกที่มาจาก จ.นราธิวาส 

ถ้ามีรายเดียว คิดว่าล็อกอยู่ สัปดาห์หน้าอาจจะไม่มี แต่เนื่องจากตอนนี้ไม่ได้ห้ามการเดินทาง จึงมีโอกาสพบได้อีก ข้อดีของเบตา คืออำนาจการแพร่กระจายไม่ได้มาก ยกเว้นอยู่ใกล้กันจริง ๆ 

สำหรับข้อมูลภาพรวมการแพร่ระบาดสายพันธุ์เบตาในไทย พบช่วง เม.ย. - 20 มิ.ย.2564 จำนวน 38 คน และ ช่วงวันที่ 21-27 มิ.ย.2564 จำนวน 89 คน รวม 127 คน คิดเป็น 1.39%

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เบตาสัปดาห์นี้ ยังพบมากที่สุดใน จ.นราธิวาส จำนวน 84 คน โดยยังเป็นพื้นที่ที่เคยระบาดเดิมบริเวณเกาะสะท้อน ขณะที่ จ.ยะลา พบ 2 คน สุราษฎร์ธานี 1 คน พัทลุง 1 คน เชื่อมโยงโรงเรียนที่เคยมีการแพร่ระบาด และ กทม. 1 คน 

1 สัปดาห์พบโควิดเดลตา 459 คน สะสม 1,120 คน

นพ.ศุภกิจ ยังเปิดเผยข้อมูลสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ในประเทศไทยช่วง เม.ย.-20 มิ.ย.2564 พบจำนวน 661 คน และวันที่ ช่วง 21-27 มิ.ย.2564 พบจำนวน 459 คน รวม 1,120 คน คิดเป็น 12.30%

หากแยกพื้นที่ กทม. กับภูมิภาค จะพบว่า ใน กทม.ตัวเลขภาพรวมสายพันธุ์เดลตา เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง จาก 23.67% ในสัปดาห์ถัดมาอยู่ที่ 22.51 และสัปดาห์ล่าสุด เม.ย.- 27 มิ.ย.2564 พบเพิ่มเป็น 25.66%

ในขณะที่ภูมิภาคสายพันธุ์เดลตา พบเพิ่มขึ้นจาก 2.58% เพิ่มเป็น 4.09% และ 5.05% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่เดินทางไปจากกรุงเทพ 

เดลตายังชุกชุมใน กทม. เพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 331 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากแคมป์คนงาน ส่งผลให้ยอดรวมสะสมอยู่ที่ 822 คน

 

สายพันธุ์เดลตาใน กทม.หากเรตยังเป็นแบบนี้ คาดว่าอีก 2-3 เดือน สายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาในเขต กทม.อาจมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษ ดูจากอัตราการเพิ่ม คิดว่าไม่เกิน 2 เดือน เป็นข้อเท็จจริงที่วิเคราะห์จากระบบเฝ้าระวังของเรา

ไทยวางระบบเฝ้าระวัง ตรวจสายพันธุ์โควิดเกือบพันต่อสัปดาห์

นพ.ศุภกิจ ระบุว่า การตรวจสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ได้ตรวจทุกคน โดยจะมีการแบ่งจำเพาะพื้นที่ที่มีการระบาด และเน้นตรวจคนที่มาจากต่างประเทศ และเดินทางข้ามแดน ซึ่งระบบเฝ้าระวังที่วางไว้สามารถตรวจได้เกือบ 1,000 คนต่อสัปดาห์แม้ว่ามาตรฐานโลกกำหนดไว้ 150 คนต่อสัปดาห์ ดังนั้นถือว่าเพียงพอที่ไทยจะบอกสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละสายพันธุ์ได้ 

สายพันธุ์เบตาที่ระบาดตอนนี้อัตราป่วยตายยังมีต่ำ แต่การหนีวัคซีนเป็นอีกกลไก จากข้อมูลเท่าที่มีเบตาหนีวัคซีนมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 2 สายพันธุ์ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาวัคซีน generation 2 

ส่วนจะฉีดซิโนแวคเข็ม 3 หรือไม่ ยังหาข้อสรุปอยู่ เนื่องจากต้องหาวัคซีนเพิ่มอีกเป็น 10 ล้านโดส จึงต้องชั่งน้ำหนักว่ามีความจำเป็นเพียงใด นอกจากนี้ เวลา 11.30 น. กระทรวงสาธารณสุข จะมีการประชุม เพื่อหาทางรับมือไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มเติม พร้อมขอให้กรมควบคุมโรคเก็บข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนในด้านป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมด้วย

ข้อมูลพบซิโนแวค 2 เข็ม กันโควิดได้มากกว่า 70%

นพ.ศุภกิจ ระบุอีกว่า สำหรับประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวค ข้อมูลของกรมควบคุมโรคที่เก็บตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.- มิ.ย. พบว่าหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ครบ 14 วัน สามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ได้ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต 90.7% พื้นที่ จ.สมุทรสาคร 90.5% จ.เชียงราย 82.8% และภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 70.9% ฉีดเข็มเดียว พบว่าป้องกันได้ 39.4% 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง