สธ.เปิด 7 แนวทางปฏิบัติ รองรับผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาที่บ้าน

สังคม
28 มิ.ย. 64
15:27
2,636
Logo Thai PBS
สธ.เปิด 7 แนวทางปฏิบัติ รองรับผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาที่บ้าน
สธ.เปิด 7 แนวทางปฏิบัติ รองรับผู้ป่วยโควิดสีเขียว ไม่มีอาการ รักษาตัวอยู่ที่บ้าน พร้อมจับมือเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีรองรับมาตรการ Home Isolation ทั้งระบบติดตามตัว แจ้งเตือน รายงานผลออกซิเจนและอุณหภูมิ ส่งไปยังโรงพยาบาล

วันนี้ (28 มิ.ย.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ COVID-19 ในไทยขยายเป็นวงกว้างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ในเขต กทม.และปริมณฑล อาจทำให้การรองรับของสถานพยาบาลไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วย

กรมการแพทย์ จึงได้มีแนวทางปรับการรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาล ทำให้โรงพยาบาลสนามบริหารจัดการเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้

สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่สามารถกักตัวได้ที่บ้านนั้น ต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีอาการ (asymptomatic cases) มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.) ที่สำคัญไม่ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ และผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด โดยระหว่างนั้นให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว
  • ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
  • หลีกเลี่ยงกินอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากกินอาหารด้วยกันควรแยกของตนเอง ไม่กินอาหารร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร
  • สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย
  • ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอลฺเจลทุกครั้ง ที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ สิ่งสำคัญ คือ หมั่นสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ และเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ พร้อมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศเพื่อความปลอดภัยแต่คนรอบข้าง

จับมือเอกชน พัฒนาระบบรองรับ Home Isolation

ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โรงพยาบาลศรีธัญญา จ.นนทบุรี ว่า สถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ยังพบการระบาดและตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจะประชุมเครือข่ายกรมการแพทย์และโรงเรียนแพทย์ในวันนี้ เพื่อแก้ไข และจัดลำดับความสำคัญการดูแลผู้ป่วยหนักสีแดงที่มีอาการรุนแรง ให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และมีเตียงรองรับเพียงพอ ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด

โดยมีข้อเสนอการดูแลกักตัวที่บ้าน Home Isolation เน้นในผู้ป่วยโควิดสีเขียวที่ไม่มีอาการรักษาที่บ้าน เพื่อให้มีเตียงดูแลผู้ป่วยอาการหนัก ทั้งนี้ ได้หารือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เช่น จัดทำระบบติดตามตัว ระบบข้อความแจ้งเตือน และระบบการรายงานผลออกซิเจนและอุณหภูมิ เพื่อรายงานผลไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด หรือโรงพยาบาลที่ดูแล ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงทีและเร็วที่สุด ป้องกันกรณีที่มีอาการหนักแต่ไม่ได้รับการดูแล รวมถึงช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินหน้าพัฒนา

จากการลงพื้นที่หน้างานเห็นบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก และเต็มกำลังความสามารถ หลายท่านมีความอ่อนล้า ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเข้มแข็ง ตั้งใจทำประโยชน์เพื่อดูแลประชาชน เพื่อผ่านพ้นวิกฤตโควิดนี้ไปด้วยกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง