นายกฯ สั่งแก้เตียงเต็มคนรอคิวจนทรุด กทม.ผุดศูนย์กักกันในชุมชน

สังคม
2 ก.ค. 64
15:00
1,858
Logo Thai PBS
นายกฯ สั่งแก้เตียงเต็มคนรอคิวจนทรุด กทม.ผุดศูนย์กักกันในชุมชน
นายกรัฐมนตรี สั่งกทม.-กรมการแพทย์ หาทางออกผู้ป่วย COVID-19 รอเตียงจนอาการทรุด ถกด่วน 14.30 น. วันนี้ (2 ก.ค.) เตรียมตั้งสถานที่กักกันในชุมชน (Community Isolation) ขณะที่ผู้ติดเชื้อจาก กทม.-ปริมณฑล กระจาย 34 จังหวัด อีสานมากสุด 15 จังหวัด ติด 147 คน

วันนี้ (2 ก.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวว่า วันนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อรวม 6,087 คน จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 5,880 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ-ที่ต้องขัง 207 คน หายป่วยกลับบ้าน 3,638 คน และเสียชีวิตอีก 61 คน รวมผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 จำนวน 242,058 คน จำนวนนี้ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 54,440 คน อาการหนัก 2,002 คน และใส่เครื่องช่วยหายใจ 579 คน

 

พญ.อภิสมัย ระบุว่า สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ยังอยู่ใน กทม.28 คน พบผู้สูงอายุคิดเป็น 70% ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย

นอกจากนี้ มีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิต เป็นแพทย์ 1 คน ทันตแพทย์ 1 คน พนักงานโรงพยาบาล 1 คน และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 คน จึงขอความร่วมมืออย่าปกปิดข้อมูลความเสี่ยง เพราะจะเกิดความสูญเสียได้

 

ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่าในจำนวนผู้ป่วย 100 คน พบ 5 คน หรือร้อยละ 5 มีอาการปอดติดเชื้อ อาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 2 ใน 3 และในผู้ป่วย 10 คน จะพบผู้เสียชีวิต 1-2 คน ทำให้ต้องวางแผนจัดการเตียง โดยเฉพาะระดับเหลืองและสีแดง เพราะกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรค มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง จึงต้องเพิ่มเตียงและระดมฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในเดือน ก.ค.นี้ 

ไทยฉีดวัคซีนยอดรวม 10.2 ล้านโดส ยังไม่รวมตัวเลขผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มที่กระจายใน กทม. และต่างจังหวัด ต้องการให้ลงข้อมูลในระบบเพื่อนำมาเป็นยอดรวมของประเทศ 

 

พญ.อภิสมัย ระบุว่า ภาพรวมผู้ติดเชื้อใน 71 จังหวัด ช่วง 2 สัปดาห์ (19 มิ.ย.-2 ก.ค.) พบว่ามีเพียง 3 จังหวัด คือ ลำพูน พังงา และแม่ฮ่องสอน ที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อในกราฟสีส้มเกิน 20 คน ส่วน กทม.-ปริมณฑล ผู้ติดเชื้อรายวัน คิดเป็นร้อยละ 64 ถือว่าสูงมาก

ถกด่วนเปิดสถานที่แยกกักในชุมชน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก และอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงใยกรณีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงกรณีผู้ป่วยต้องใช้เวลารอเตียง จนเกิดภาวะรุนแรงและอาการทรุด

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกพื้นที่ หารือการจัดการผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพเตียงที่จำกัดใน กทม.ทุกเขต โดยจะแยกกักกันตัว (Community Isolation) และระหว่างที่ทราบผลติดเชื้อและรอจัดสรรเตียง 

 


ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. จะหารือร่วมกับกรมการแพทย์ ในเวลา 14.30 น. โดยจะเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับการดูแลผู้ป่วยในชุมชนให้ปลอดภัย เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น จากกลุ่มสีเขียวกลายเป็นเหลือง และทำให้การกักกันในชุมชนแพร่ไปยังบุคคลอื่น พร้อมทบทวนระบบผู้ป่วยแยกกักในชุมชน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเตียงในโรงพยาบาลบุษราคัม

พบติดเชื้อ 34 จังหวัด อีสานอ่วม 15 จังหวัดติด 147 คน 

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ลักษณะทางระบาดวิทยา พบความเชื่อมโยงผู้มีประวัติเดินทางจาก กทม. และปริมณฑล คือ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ โดยกระจายไปยัง 34 จังหวัด ดังนี้

  • ภาคเหนือ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง พบติดเชื้อ 16 คน
  • ภาคกลาง และภาคตะวันตก 8 จังหวัด คือ ชัยนาท สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี สมุทรสงคราม พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี ฉะเชิงเทรา 26 คน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นครพนม สกลนคร อุดรธานี สุรินทร์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี พบติดเชื้อ 147 คน
  • ภาคใต้ 6 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร ยะลา สงขลา พบติดเชื้อ 13 คน
กทม.ยังเป็นพื้นที่พบการติดเชื้อสูงอันดับ 1 จำนวน 2,267 คน รวมตัวเลขสะสม 77,046 คน พบ 113 คลัสเตอร์ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีการรายงานพบผู้ป่วยใหม่ในรอบ 28 วัน จำนวน 28 คลัสเตอร์

 

 

ส่วนสีเหลืองที่ไม่มีรายงานมา 14 วัน จำนวน 17 คลัสเตอร์ และมีรายงานคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง คือ แคมป์ก่อสร้างซอยสุขุมวิท เขตคลองเตย ติดเชื้อ 43 คน และโรงงานผลิตกระสอบพลาสติก เขตหนองแขม ติดเชื้อ 5 คน รองลงมาสมุทรปราการ ติดเชื้อ 522 คน ป่วยสะสม 17,959 คน และนนทบุรี ติดเชื้อเพิ่ม 327 คน

ทั่วโลกติดเชื้อสูง แต่อัตราการตายต่ำผลฉีดวัคซีน 

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 183 ล้านคน เสียชีวิตรายวัน 8,297 คน

ส่วนประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนฉีดครอบคลุมประชากร เช่น อังกฤษ มีผู้ติดเชื้อ 27,989 คน แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 22 คน สะท้อนว่าอังกฤษที่ฉีดวัคซีนครอบคลุม 50% ของประชากร แม้การติดเชื้อตัวเลขสูง 20,000 คนต่อวัน แต่อัตราการตายต่ำ

นอกจากนี้ อิสราเอลที่ประชากรฉีดวัคซีนแล้วคิดเป็น 1 ใน 3 ประชากร ฉีดเข็ม 1 และครบ 2 เข็มแล้ว ร้อยละ 50 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 300 คนต่อวัน โดยครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อก็ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มแต่ยังติดเชื้อได้ 

ส่วนสถานการณ์ในทวีปเอเชีย มาเลเซียติดเชื้อ 6,988 คน เมียนมาติดเชื้อ 2,070 คน และกัมพูชาติดเชื้อ 999 คน เสียชีวิต 26 คน จึงจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิด เพราะมีชายแดนติดกับไทยและยังมีปัญหาลักลอบข้ามแดน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง