สธ.ห่วงป่วยโควิดเพิ่ม-รอเตียงหลักพันคน

สังคม
3 ก.ค. 64
14:35
538
Logo Thai PBS
สธ.ห่วงป่วยโควิดเพิ่ม-รอเตียงหลักพันคน
สธ.ห่วง COVID-19 กทม.ป่วยเพิ่มวันละ 2,000 คน รอเตียงหลักพัน วอนเห็นใจบุคลากรแพทย์ บางคนยังไม่ได้กลับบ้านนาน 2 เดือน หากตัวเลขป่วยไม่ลดจะพบปัญหาไอซียูไม่พออีกครั้งในไม่กี่สัปดาห์

วันนี้ (3 ก.ค.2564) ศบค.แถลงประเด็นวัคซีนป้องกัน COVID-19 และการจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วย กทม. โดยมี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมแพทย์ ร่วมชี้แจงข้อมูลสถานการณ์

ห่วงติดเชื้อในผู้สูงอายุ

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยอมรับว่า ขณะนี้สถานการณ์ COVID-19 ในไทย น่าเป็นห่วง จากกรณีเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา ซึ่งพบการระบาดเข้าไปในชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. อีกทั้งมีกระจายไปพื้นที่ต่างจังหวัด จากการเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้ ต้องเข้าไปควบคุมสถานการณ์ให้เร็ว โดยเฉพาะการติดเชื้อในผู้สูงอายุ

ดังนั้นมาตรการขณะนี้ จึงต้องเน้นลดการเดินทาง ลดโอกาสเสี่ยงรับเชื้อจากสถานที่ต่าง ๆ ทั้งสถานประกอบการ ร้านอาหาร และยังห่วงการแพร่เชื้อในชุมชน ครัวเรือน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในบ้าน จึงต้องทบทวนการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุให้เร็วขึ้น เพื่อลดตัวเลขการเสียชีวิต หลังฉีดก็จะเกิดภูมิต้านทานใน 2 สัปดาห์ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดลงในเดือนต่อไป

ขยายเตียงไอซียู

ขณะที่อธิบดีกรมแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงผู้ป่วย หากดูภาพรวมทั้งประเทศ ตัวเลขเตียงยังพอ แต่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยอมรับว่าสถานการณ์หนัก โดยเฉพาะเตียงสำหรับผู้ป่วยในระดับสีแดง ส่วน 4 จังหวัดภาคใต้ ก็พยายามเตรียมเตียงเพิ่ม ยืนยันว่าหากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องการใช้มาตรการ Home Isolation หรือ Community Isolation แต่ขณะนี้ใช้เฉพาะบางที่ ยกตัวอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลบางจังหวัดที่พบการแพร่ระบาดสูง

พยายามขยายเตียง 200-300% แต่เตียงผู้ป่วยสีแดงเบ่งได้น้อยหน่อยเพียงเท่าตัว เพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลรักษา ส่วนเตียงสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลืองเบ่งได้มากหน่อย

 

นอกจากนี้ ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันขยายเตียงไอซียูเพิ่มที่โรงเรียนแพทย์ ทั้งธรรมศาสตร์รังสิต รามาธิบดี พญาไท วชิระ รวม 52 เตียง รวมทั้งระดมแพทย์เฉพาะทางที่จบใหม่ และพยาบาลไอซียูจากต่างจังหวัด อีกทั้งเตรียมเตียงไอซียูเพิ่มหลายที่ ทั้ง มทบ.11 ที่มี รพ.เอกชนร่วมดูแล ส่วน กทม.ขยายเตียงสีเหลืองและแดงเพิ่ม และเอกชนขยายเตียงสีเขียวเพิ่มอีก 4,000 เตียง

กทม.รอเตียงหลักพันคน

อธิบดีกรมแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลจากคอลเซ็นเตอร์ ทั้ง 1330, 1668 และ 1669 พบว่ายังมีผู้ป่วย COVID-19 รอเตียงอยู่ที่บ้านหลักพันคน โดยหาแนวทางให้ดูแลรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation เพื่อให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ทั้งค่าอุปกรณ์ เช่น การวัดไข้ วัดออกซิเจนในกระแสเลือด และสนับสนุนอาหาร 3 มื้อ รวมทั้งการติดตามผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลและส่งต่อโรงพยาบาลอย่างทันท่วงทีหากอาการทรุดลง นอกจากนี้ ยังมี Community Isolation ยกตัวอย่าง กทม.จัดตั้งบ้านพักคอย 6 โซน โดยใช้พื้นที่โรงงาน วัด โรงเรียน ซึ่งยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดค่อนข้างตึง ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลราชวิถี ว่า คนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุและมาที่ห้องฉุกเฉิน (ER) ได้ตรวจพบติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมาก ทั้งที่ไม่มีอาการติดเชื้อ นอกจากนี้มีเคสตั้งครรภ์และติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมาก ซึ่งกำลังต้องทำเรื่องขยายเตียงฉุกเฉินนอก ER ด้วย

วอนเห็นใจบุคลากรแพทย์ 2 เดือนยังไม่ได้กลับบ้าน

ทั้งนี้ 5 มาตรการสำคัญ ที่แพทย์และพยาบาลขอความร่วมมือ ได้แก่ นโยบายที่ชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือ ระบบการควบคุมโรคดี ระบบรักษาพยาบาลเข้มแข็ง และการฉีดวัคซีนครอบคลุม

บุคลากรที่อยู่หน้างาน ตอนนี้เขาตึงจริง ๆ ผมตระเวนเยี่ยมทั้งสถาบันประสาทวิทยา รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี เขาไม่ได้กลับบ้าน 2 เดือน ก็เห็นใจเขา ถ้า 5 มาตรการนี้ไปด้วยกันดี ๆ คิดว่ายังแก้ไขสถานการณ์ได้ ย้ำว่าเอาความจริงมาพูด โปร่งใส และตั้งสติ เพราะเดือนนี้หนักแน่

ทดลอง Home Isolation ได้ผลดี

ส่วนกรณีหลาย รพ.ไม่รับตรวจหาเชื้อ จริง ๆ ไม่ได้บอกว่าที่ใดตรวจแล้วต้องรับผู้ป่วย แต่หากตรวจพบแล้วให้นำเข้าระบบอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทีมงานตามคนไข้ โดยเฉพาะสีเหลือง สีแดง ส่วนสีเขียวอาจใช้ Home Isolation หรือ Community Isolation ซึ่งได้ รพ.ราชวิถี ทดลองใช้ Home Isolation เกือบ 2 เดือนแล้ว จำนวน 20-30 คน พบว่าได้ผลดี

อธิบดีกรมแพทย์ คาดการณ์ว่า หากตัวเลขผู้ป่วยทั้งประเทศยังอยู่ในระดับวันละ 5,000-6,0000 คน ก็ยังพอไปได้ ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ หากตัวเลขป่วยเพิ่มยังอยู่ที่วันละ 2,000 คน ไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าก็จะมีปัญหาเตียงไอซียูเต็มอีกครั้ง พร้อมขอความร่วมมือปฏิบัติ 5 มาตรการเพื่อลดตัวเลขผู้ป่วย

ต้องดึงคนไข้ลงก่อน คิดว่าจาก 2,000 คน ถ้าลงมาเหลือ 1,000 คน เหมือนสถานการณ์ช่วง เม.ย.-ต้น พ.ค. จะสามารถจัดการได้ แต่ถ้าสถานการณ์ไปต่อ เรียนอีกครั้งว่าการขยายเตียง เครื่องมือ สถานที่ ไม่ใช่เรื่องที่ยากนัก แต่การหาคนมาทำนั้น ผมขอความเห็นใจแทนบุคลากรสาธารณสุข เพราะไม่ได้กลับบ้าน 2 เดือน และเริ่มมีการติดเชื้อใน รพ. ถ้าลดคนไข้ในกรุงเทพฯ เหลือสักวันละ 1,000 คน คิดว่าจะเดินไปได้อีกพอสมควร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง