สื่อสังคมออนไลน์ดันแฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์

สังคม
5 ก.ค. 64
08:07
1,834
Logo Thai PBS
สื่อสังคมออนไลน์ดันแฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์
สื่อสังคมออนไลน์ดันแฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ ปมเอกสารการประชุมเฉพาะกิจมีความเห็นค้านฉีดไฟเซอร์ หวั่นยอมรับซิโนแวคไม่ป้องกัน COVID-19 สอดคล้องกับ เลขาฯ แพทยสภา เรียกร้องให้ฉีดวัคซีน mRNA หลังพบสัญญาณแพทย์ติด COVID-19 จนมีประกาศปิดห้องฉุกเฉิน

วันนี้ (5 ก.ค.2564) สื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ได้ทวีตข้อความเพื่อรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หลังมีการเปิดเผยเอกสารการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยระบุว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส ในเดือน ก.ค.2564 

แฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ ทะยานขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้ จนถึงช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยมีผู้ทวีตข้อความเกี่ยวกับแฮชแท็กดังกล่าวถึง 261,000 ทวีต หนึ่งในนั้นคือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งได้ทวีตถึงเอกสารดังกล่าวโดยระบุว่า "มีความเห็นหนึ่ง ที่คัดค้านการนำเอา Pfizer มาฉีดกระตุ้นให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเหตุผล คือ จะเป็นการยอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลป้องกันแล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น"

พร้อมเรียกน้องให้แพทย์ที่คัดค้านการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานทุกชุด และเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีกด้วย

ขณะที่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็ได้ทวีตข้อความว่า "เห็นรายงานการประชุมกรรมการวิชาการวัคซีนแล้วโกรธมาก คัดค้านการฉีด Pfizer vaccine กระตุ้นเข็มสามให้บุคลากรทางแพทย์ด้วยเหตุผลคือเป็นการยอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น คนพูดเป็นหมอหรือเปล่าครับ คุณทำงานด่านหน้าไหม จิตใจคุณทำด้วยอะไร "

เลขาฯ แพทยสภาหนุนฉีดไฟเซอร์บุคลากรแพทย์สู้โควิด

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงในทวิตเตอร์ที่มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าว ในเฟซบุ๊กก็มีการเผยแพร่ข้อความรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรการแพทย์ อย่าง พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ที่ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สนับสนุนให้วัคซีนเข็ม 3 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า หลังวัคซีนไฟเซอร์จะเข้าไทย 1.5 ล้านโดส ในเดือน ก.ค. - ส.ค.นี้ ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ในด่านหน้ามีโอกาสได้รับเชื้อจากผู้ป่วยตลอดเวลา ย่อมถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุดกว่ากลุ่มใด ๆ จึงขอเพิ่มวัคซีนคุณภาพสูง โดยเฉพาะกลุ่ม mRNA ที่จะปกป้องบุคลากรทุกคน จากเชื้อกลายพันธุ์อย่างเร่งด่วน

ในการออกรบจำเป็นต้องได้รับเกราะป้องกันที่ดีที่สุด เพื่อให้เขาสามารถอยู่รอด ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เชื้อระบาดอย่างรุนแรงวิกฤต จนจำนวนบุคลากร ไม่เพียงพอ อยู่แล้ว

 
สอดคล้องกับ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา และอดีตนายกแพทยสภา ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เรียน นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ตามที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสในเดือน ก.ค.-ส.ค.2564 มานั้น

"ผมทราบมาว่ามติที่ประชุมของคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564 ได้มีผู้เสนอให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปแล้วระยะหนึ่งได้รับวัคซีนนี้ แต่ต่อมาที่ประชุมมีมติไม่ให้วัคซีนดังกล่าวแก่บุคลากรทางการแพทย์ จึงมีความเห็นว่า แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะได้รับเชื้อรวมทั้งเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญสูงมากในขณะนี้ที่มีภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด"

หากกำลังคนที่สำคัญในภาวะวิกฤตนี้ติดเชื้อจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก เพราะการที่คนใดคนหนึ่งในกลุ่มบุคลากรที่กำลังทำหน้าที่เพื่อชดเชยอัตรากำลังคนที่ขาดแคลนอย่างที่สุดในตอนนี้ติดเชื้อ จะทำให้มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องถูกกักตัว เนื่องจากเป็นผู้ความเสี่ยงสูงอีกจำนวนมาก ดังที่ได้มีการประกาศปิดห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องคลอด หรือทั้งโรงพยาบาลมาเป็นระยะ ๆ ทำให้ผู้ป่วยและประชาชน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกทั้งจาก COVID-19 และภาวะฉุกเฉินอื่น ๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง