สภาวิศวกร แนะใช้ "โฟมดับเพลิง" เหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

สังคม
6 ก.ค. 64
10:24
2,868
Logo Thai PBS
สภาวิศวกร แนะใช้ "โฟมดับเพลิง" เหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว
สภาวิศวกร ระบุเหตุเพลิงไหม้โรงงานเม็ดพลาสติก ซอยกิ่งแก้ว 21 ต้องใช้ "โฟมดับเพลิง" เท่านั้น พร้อมเสนอใช้บิ๊กเดด้า "คุณภาพอากาศ" จาก SCiRA วางแผนอพยพประชาชน

วันนี้ (6 ก.ค.2564) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า กรณีอุบัติเหตุเพลิงไหม้และเกิดการระเบิดของโรงงานผลิตโฟมพอลิสไตรีน ในซอยกิ่งแก้ว 21 จ.สมุทรปราการ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 ก.ค.2564

ด้วยขนาดของโรงงานที่มีสารเคมีกว่า 2,000 ตัน จึงก่อให้เกิดกลุ่มควันพุ่งสูงต่อเนื่องนานนับสิบชั่วโมง ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่ตั้งโรงงานดังกล่าว พบอยู่ในพื้นที่สีแดงสำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

ดังนั้น ขั้นตอนการดับเพลิงไหม้ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องใช้ "โฟมดับเพลิง" เท่านั้น เนื่องจากเป็นสารเคมีสำหรับควบคุมเพลิงโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์โดยเฉพาะ

อีกทั้งยังไม่สามารถใช้น้ำฉีดดับเพลิงได้อย่างทั่วไป เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารสไตรีนเข้าสู่บริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติได้ง่ายและรวดเร็ว

ทั้งนี้ วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก คือสไตรีนมอนอเมอร์ เป็นของเหลว ไฮโดรคาร์บอนประเภทสารอะโรมาติก ที่อุณหภูมิสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส สามารถติดไฟได้ง่าย

จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ อะโรมาติก ที่ระเหยง่าย เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจในกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง หรือเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทางเดินหายใจ

ดังนั้น หากถูกเผาไหม้จะเกิดควันดำหนาแน่นกว่าสารอินทรีย์ทั่วไป สำหรับการรั่วไหลปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก EPS ยังจำเป็นต้องใช้สารช่วยทำให้เกิดฟอง ที่เป็นสารไฮโดรคาร์บอนน้ำหนักโมเลกุลต่ำจัดเป็นสารไวไฟ เช่น บิวเทน เพนเทน เฮกเซน และเฮปเทน

ดังนั้น ในระหว่างดำเนินการดับเพลิงต้องเพิ่มความระมัดระวังในส่วนของบริเวณที่จัดเก็บวัตถุดิบไวไฟเหล่านี้อีกด้วย

นอกจากนี้ สภาวิศวกร เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ฐานข้อมูลดิจิทัล หรือบิ๊กเดต้า คุณภาพอากาศของสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ สจล.ที่มีเซ็นเซอร์ติดตามข้อมูลระดับคุณภาพอากาศและแจ้งเตือนปัญหามลพิษในกรุงเทพฯ

พร้อมแสดงข้อมูลต่างๆ แบบเรียลไทม์ อาทิ ค่าฝุ่น PM2.5 PM 10 ค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฯลฯ เพื่อวางแผนช่วยเหลือหรืออพยพประชาชนกลุ่มเสี่ยง ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพในระบบทางเดินหายใจออกจากพื้นที่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรได้อย่างปลอดภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง