ศบค.จับตาสายพันธุ์ "เดลตา" ติดเชื้อก้าวกระโดด 32 %

สังคม
6 ก.ค. 64
15:33
3,784
Logo Thai PBS
ศบค.จับตาสายพันธุ์ "เดลตา" ติดเชื้อก้าวกระโดด 32 %
ศบค.จับตาเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ กทม. จากเดือน เม.ย.พบผู้ติดเชื้อเพียง 10% ล่าสุดปลายเดือน มิ.ย.กระโดดเป็น 32% ส่งผลให้มีแนวโน้มผู้ป่วยป่วย-ตายเพิ่ม

วันนี้ (6 ก.ค.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 5,420 คน เสียชีวิตอีก 57 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 3,586 คน รวมผู้ป่วยสะสมระลอกเดือน เม.ย.จำนวน 265,790 คน

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อ พบใน กทม. 1,492 คน ปริมณฑล 5 จังหวัด 1,372 คน ส่วน 4 จังหวัดภาคใต้ 635 คน จังหวัดอื่นๆ (67 จังหวัด) 1,876 คน ในเรือนจำ-ที่ต้องขัง 37 คน

ส่วนผู้ป่วยที่ยังรักษาในโรงพยาบาล 65,297 คน อาการหนัก 65,297 คน รักษาในโรงพยาบาล 32,906 คน และ โรงพยาบาลสนาม 32,391 คน พบใส่เครื่องช่วยหายใจ 643 คน และผู้ป่วยที่เข้ามารักษาอัตราการนอนโรงพยาบาล 14 วัน

จับตาเดลตาบุก กทม.แนวโน้มป่วยเพิ่ม

โฆษก ศบค.ระบุว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานสายพันธุ์ COVID-19 พบว่าขณะนี้เริ่มเป็นสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย ที่เข้ามาในระลอกนี้ โดยพบว่า กทม.มีรายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามากที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้พบในแคมป์คนงานย่านหลักสี่ แต่ขณะนี้แพร่กระจายไปหลายพื้นที่

ทั้งนี้ ภาพรวมทั้งประเทศจากตัวอย่าง 2,238 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 65.1 ยังเป็นอัลฟา รองลงมาเดลตา ร้อยละ 32.2 และเบตา ร้อยละ 2.6 ซึ่งจากตัวอย่างยังพบว่าพื้นที่ กทม.จาก 936 ตัวอย่าง เป็นเดลตา ร้อยละ 52 และอัลฟา ร้อยละ 47 ส่วนภูมิภาค 1,302 ตัวอย่าง พบเป็นเดลตา ร้อยละ 18 อัลฟา ร้อยละ 77 และเบตา ร้อยละ 4.4

แนวโน้มสัดส่วนสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เดลตา จากเดือน เม.ย.ที่พบร้อยละ 10 ต้นเดือน มิ.ย.ร้อยละ 16 ส่วนปลายเดือน มิ.ย.ขึ้นมาเป็นร้อยละ 32 ซึ่งใน กทม.มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น 

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ภาพรวมในต่างประเทศทั้งอินเดียและอังกฤษยังต้องต่อสู้กับสายพันธุ์เดลตา เพราะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็ว ดังนั้นจึงต้องปรับตัวตามให้ทัน แม้จะได้รับวัคซีน 2 เข็มก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย

อาการหนักแนวโน้มเพิ่มสูง

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า กราฟที่น่ากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ป่วย COVID-19 เพราะกลุ่มสีแดงอาการหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้จะไปแบบช้าๆ และกลุ่มที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจยังมีมาก ซึ่งมีรายงานตัวเลขเพิ่มขึ้น

แม้จะเคยมีกรณีของผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ที่เคยใส่ท่อช่วยหายใจ และรักษากลับมาหายเป็นปกติ แต่ขระนี้ไม่แน่ใจแล้ว เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ เพราะคนเสียชีวิตยังเพิ่มตามอัตราการติดเชื้อ 2-3 วัน ตัวเลขคนป่วยหมื่นคน อัตราเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น

 

ส่วนกรณีผู้เสียชีวิตวันนี้ใน กทม. 33 คน สมุทรปราการ 4 คน ส่วนนครปฐม ระยอง ปทุมธานี ชลบุรี สงขลา สระบุรี จังหวัดละ 2 คน และเพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก สมุทรสงคราม นราธิวาส ปัตตานี สกลนคร และนครพนม จังหวัดละ 1 คน

ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 35 คน หญิง 22 คน อายุระหว่าง 25-91 ปี และพบการรักษาตัวตั้งแต่ 11 วัน นานสุด 61 วัน

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการฉีดวัคซีนว่า สำหรับการฉีดวัคซีนมีตัวเลข 11,058,390 โดส สิ่งที่ต้องเน้นย้ำและแปลงเป็นยุทธศาสตร์ต่อสู้คือวัคซีน หากจะลดป่วย ลดตาย ต้องฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค เพื่อลดการป่วยและลดการใช้เตียง

ตั้งแต่ 28 ก.พ.-5 ก.ค.มีกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังได้รับการฉีดวัคซีน ร้อยละ 15.1 จำนวน 182,108 คน จากกลุ่มเป้าหมาย 5,350,000 คน สวนกลุ่ม 7 โรคและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รับวัคซีนร้อยละ 12.5 จำนวน 100,883 คน จาก 12,500,000 คน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยพบป่วยโควิดรายใหม่ 5,420 เสียชีวิตอีก 57 คน

"อิสราเอล" เปิดประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ หลังเผชิญโควิดเดลตา 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง