สหพันธ์นิสิต นศ.เภสัชฯ ยื่นหนังสือเรียกร้อง #ส่งเภสัชใช้ทุนเข้าพื้นที่

สังคม
7 ก.ค. 64
10:09
2,462
Logo Thai PBS
สหพันธ์นิสิต นศ.เภสัชฯ ยื่นหนังสือเรียกร้อง #ส่งเภสัชใช้ทุนเข้าพื้นที่
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า เภสัชกรจบใหม่ รหัส 58 ที่มีสัญญาใช้ทุน ยื่นหนังสือถึงสภาเภสัชกรรม และ สธ.เพื่อเร่งรัดส่งตัวเภสัชกรไปยังพื้นที่ 62 จังหวัด 218 โรงพยาบาล และ 40 สสจ. ที่รอเภสัชกรหนุนกำลังบริหารจัดการวัคซีน COVID-19

วันนี้ (7 ก.ค.2564) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ตัวแทนเภสัชกรจบใหม่ รหัส 58 ที่มีสัญญาใช้ทุน จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงสภาเภสัชกรรม และกระทรวงสาธารณสุข

เนื่องจากไม่สามารถไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศได้จากความล่าช้าในกระบวนการคัดเลือกโดยสำนัก ก.พ.จากปกติทุกปีต้องเข้าปฏิบัติงานในวันที่ 1 มิ.ย. ขณะนี้เดือน ก.ค.แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนในการจัดสรรเภสัชกรใช้ทุน จึงมีข้อเรียกร้อง 4 ประการ ดังนี้

1.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการจัดสรรและคัดเลือกพนักงานราชการ ในตำแหน่งเภสัชกร ที่จะปฏิบัติงานชดใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2564

2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้หลักเกณฑ์การจัดสรรเดิม โดยเป็นนิสิต/นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ที่สำเร็จการศึกษาภายในเดือน เม.ย.ปีนั้น ๆ และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2564 เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการจัดสรร

3.ในกรณีที่มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงแนวทางวิธีปฏิบัติในการจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการดำเนินการโดยกะทันหัน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งล่วงหน้าแก่นิสิต/นักศึกษาก่อนที่จะลงนามในหนังสือสัญญาชดใช้ทุนฯ เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการแสดงความจำนงเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนของนิสิต/นักศึกษาเภสัชศาสตร์ผู้ทำสัญญาฯ และสัญญานั้นจะต้องเป็นสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

4.หากกระบวนการจัดสรรมีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ กระบวนการ แนวทางในการดำเนินการรวมถึงระเบียบวิธีปฏิบัติและระยะเวลาของการดำเนินการ เภสัชกรผู้ทำสัญญาฯ ควรมีโอกาสนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ และสามารถยกเลิกการแสดงความจำนง โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาฯ และเพื่อความเป็นธรรมแก่เภสัชกรที่สำเร็จการศึกษาใน พ.ศ.2564

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สนภท.ได้ประชาสัมพันธ์และเรียกร้องขอความชัดเจนผ่านแฮชแท็ก #ส่งเภสัชใช้ทุนเข้าพื้นที่ ในสื่อสังคมออนไลน์มาโดยตลอด

 
ก่อนหน้านี้ ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย และชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้รัฐบาลเร่งรัดส่งเภสัชกรใช้ทุนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข จัดสรรตำแหน่งพนักงานราชการ จำนวน 350 ตำแหน่ง ให้กับเภสัชกรจบใหม่ปี 2564 ที่ประสงค์จะปฏิบัติงานชดใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุขในตำแหน่ง "เภสชักร" โดยทดแทนการบรรจุเป็นข้าราชการนั้น

ขณะนี้พบว่าการดำเนินงานล่าช้า ทำให้ผู้ป่วยและสังคมเสียประโยชน์จากการได้รับการดูแลจากเภสัชกรอย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเภสัชกรเสียโอกาสในการมีงานทำไปกว่า 4 เดือนแล้ว และตัดโอกาสการให้เภสัชกรใหม่เข้าไปยังพื้นที่เพื่อช่วยปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค COVID-19 ร่วมกับทีมสหวิชาชีพต่าง ๆ

ทั้งนี้ บทบาทของเภสัชกรมีความจำเพาะและเร่งด่วนในห้วงเวลานี้อย่างมาก ได้แก่ การกระจายวัคซีน การควบคุมมาตรฐาน การเตรียมวัคซีนและการจัดฉีดวัคซีน รวมถึงการจัดระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังที่ประชาชนได้รับวัคซีน (AEFI)

 

62 จังหวัด 218 โรงพยาบาล และ 40 สสจ.รอเภสัชกร

การจัดสรรเภสัชกรครั้งนี้ มีกำหนดส่งเภสัชกรลงไปยังพื้นที่ 62 จังหวัด โรงพยาบาล 218 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 40 แห่ง แต่เกิดความล่าช้า จากเหตุที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการพลเรือน (ก.พ.) ยังไม่กำหนดแนวทางการคัดเลือกพนักงานราชการตำแหน่งเภสัชกรมายังกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่กลุ่มเภสัชกรทำเรื่องหารือไปตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 และเมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้รับแนวทางจาก ก.พ.มาแล้ว อาจต้องใช้เวลาในการคัดเลือกและส่งตัวเภสัชกรไปยังพื้นที่อีกประมาณ 2-3 เดือน หากใช้กระบวนการทางราชการปกติ

ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย และชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน เล็งเห็นว่า หากปล่อยให้กระบวนการทางราชการดำเนินการต่อไปเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเภสัชกรผู้ชดใช้ทุนเอง และยังจะกระทบอย่างมากต่อระบบการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุขในภารกิจการจัดฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของรัฐบาล จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกระทรวงสาธารณสุข ปรับกระบวนการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้สามารถจัดส่งเภสัชกรใช้ทุนเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ ภายใน 15 ก.ค.2564

ขอแรงหนุนเภสัชกร ช่วยจัดการวัคซีนโควิด

ขณะที่ เภสัชกรจบใหม่บางส่วน ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เภสัชกรมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะการตรวจรับวัคซีน และการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมเเละควบคุมคุณภาพวัคซีน รวมถึงรายละเอียดเอกสารต่าง ๆ ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง พร้อมมีหน้าที่ติดตามอาการไม่พึ่งประสงค์ เเละเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นอาการข้างเคียงนี้ต้องรายงานเเละติดตามวันต่อวัน ซึ่งเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน มีเพียง 3 - 5 คนเท่านั้น หากปฏิบัติภารกิจวัคซีน 1 - 2 คน เหลือเพียง 1 - 2 คน ที่ให้บริการคนไข้มากถึง 200 - 300 คนต่อวัน 

ทั้งนี้ เภสัชกรจบใหม่หลายคนคาดว่า เหตุที่กระบวนการล่าช้า เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนการบรรจุตำแหน่งของเภสัชกร จากข้าราชการเป็นพนักงานราชการ ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะล่าช้าแต่เภสัชกรจบใหม่ที่เข้าพื้นที่เพื่อใช้ทุน ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 ขณะที่กระบวนการในปีนี้ยังไม่มีความคืบหน้าทั้งหนังสืออนุมัติยกเว้นการประกาศรับสมัครพนักงานราชการตำแหน่ง เภสัชกร รวมถึงยังไม่มีความชัดเจนในเกณฑ์การคัดเลือกและกรอบเวลาปฏิบัติงาน

ตอนนี้เหมือนเราถูกลอยแพ เราเสียทั้งเวลาที่จะได้ใช้องค์ความรู้ไปทำงานสนับสนุนโรงพยาบาลในช่วง COVID-19 เสียโอกาสในการหางาน เพราะถ้าไม่รอคัดเลือก เราก็ต้องจ่ายค่าปรับอีก 250,000 บาท แต่เราไม่รู้เลยว่าจะได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 350 ตำแหน่งไหม

ย้อนไทม์ไลน์   #ส่งเภสัชใช้ทุนเข้าพื้นที่ 

เภสัชกรจบใหม่อีกคน ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ลงชื่อทำสัญญาชดใช้ทุน และทางกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือขออนุมัติยกเว้นการประกาศรับสมัครพนักงานราชการตำแหน่ง เภสัชกร ไปยังสำนักงาน ก.พ.

ต่อมาในเดือน มี.ค. - พ.ค.2564 นักศึกษาเภสัชกรสำเร็จการศึกษา สอบใบประกอบวิชาชีพ และสภาเภสัชประกาศผลสอบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งระหว่างนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้หนังสืออนุมัติจากสำนักงาน ก.พ.และได้ส่งหนังสือไปอีกรอบในเดือน เม.ย.ซึ่งโดยปกติจะต้องจัดสรรให้เสร็จภายในเดือน พ.ค.และเริ่มทำงานในวันที่ 1 มิ.ย.

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 มิ.ย.สำนักงาน ก.พ.ได้หารือถึงประเด็นดังกล่าวแต่ผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีการส่งหนังสือกลับถึงกระทรวงสาธารณสุข ทำให้กระบวนการคัดเลือกที่จะทำต่อหลังจากนั้นต้องหยุดชะงัก โดยที่ผ่านมาทางชมรมเภสัชชนบท ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทยและชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชมุชน ได้ออกจดหมายเปิดผนึกและหนังสือแถลงการณ์ต่อนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้น 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขอนายกฯเร่งส่งเภสัชกรใช้ทุนลงพื้นที่ "ป้องกันขาดแคลน-ช่วยแก้โควิด"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง