ค้นต้นเหตุ "อุบัติภัยสารเคมี" ไฟไหม้โรงงาน สุขภาพคนเสี่ยงระยะยาว

สังคม
7 ก.ค. 64
16:01
1,629
Logo Thai PBS
ค้นต้นเหตุ "อุบัติภัยสารเคมี" ไฟไหม้โรงงาน สุขภาพคนเสี่ยงระยะยาว
ขุดต้นตออุบัติภัยสารเคมีโรงงานไฟไหม้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ป้องกันได้ด้วยการ "ประเมินความเสี่ยง" ไม่ใช่แก้ไขที่ปลายเหตุ ย้อนเคสไฟไหม้โรงงานคลองเตย ปี '34 กระทบสุขภาพประชาชนกว่า 16 ปี

ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ แพทย์เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส ถึงสิ่งที่ควรเฝ้าระวัง และสิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ถ้าจะมองเหตุการณ์ครั้งนี้ให้เห็นภาพทั้งระบบ เราควรจะเริ่มมองยังไง?

เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานที่ซอยกิ่งแก้ว 21 จะว่าไปแล้วก็เป็นสาธารณภัยหรือภัยพิบัติแล้วแต่จะเรียก ซึ่งมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นวงจรการจัดการสาธารณภัย หรือ 2P2R เริ่มจาก Prevention คือ การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้น Preparedness คือ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น Response คือการรับมือหรือการตอบโต้เหตุการณ์ และ Recovery คือ การฟื้นฟู

จริงๆ แล้วเราควรจะขึ้นต้นด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุและเตรียมความพร้อมไว้ เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาอีก เราจะได้รับมือหรือตอบโต้ได้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด และเมื่อตอบโต้ฟื้นฟูเสร็จแล้ว ประเด็นสำคัญคือต้องมีการถอดบทเรียนและนำกลับไปทบทวนว่า กระบวนการป้องกันหรือเตรียมความพร้อมของเรานั้น มีความผิดพลาดหรือไม่เหมาะสม ไม่มีประสิทธิภาพตรงไหน เพื่อว่าคราวต่อไปเราจะได้รับมือเหตุการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อพูดถึงการป้องกันกรณีเหตุการณ์โรงงานระเบิด เนื่องจากโรงงานประเภทนี้เป็นโรงงานอันตราย ซึ่งเจ้าของโรงงานก็ทราบดีว่า วันหนึ่งอาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้หรือเหตุระเบิดได้ ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ได้มีการออกประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการประเมินความเสี่ยง โดยกำหนดให้ 12 ประเภทกิจการ จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงว่า มันอาจจะเกิดเหตุไฟไหม้หรือเหตุระเบิดหรือไม่ และจะต้องมีการวางมาตรการไว้ว่าจะทำอะไร

แต่มีการชี้แจงว่า โรงงานนี้ตั้งมาก่อน ชุมชนมาทีหลัง?

เรื่องใครมาก่อนนั้น เราไม่อาจไปแก้ไขหรือย้อนอะไรได้ตอนนี้ แต่สิ่งที่ควรทำตอนนี้คือ ประกาศกระทรวงที่กำหนดให้ต้องประเมินความเสี่ยงได้ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2532 ยังไงก็ต้องย้อนไปมีผลบังคับต่อเกือบทุกโรงงานที่เป็นประเภทนี้

โรงงานก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า แม้ตั้งมาก่อนแต่ก็ต้องประเมินความเสี่ยง เพราะสิ่งที่อยู่ในโรงงานเป็นของอันตราย

หากเปรียบเทียบกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การทำเหมือง หรือโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะมีรายงาน EIA เพื่อประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพ กรณีนี้ก็ถือเป็นรายงานประเภทเดียวกัน ก็คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงและวางมาตรการป้องกัน ซึ่งกรณีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมความพร้อมที่ดี และการตอบโต้ที่เหมาะสม

กรณีนี้ ถ้าดูจากเวลาเกิดเหตุตั้งแต่ตีสาม จนถึงตีสี่ของอีกวัน การรับมือ หรือ Respond เป็นยังไง?

การ Respond จะดีแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการป้องกันและเตรียมความพร้อม แต่ถ้าเราเริ่มมีคำถามว่าป้องกันดีไหม และเตรียมความพร้อมดีไหม ก็อาจจะนำมาซึ่งคำตอบว่า การตอบโต้ที่เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด

โดยทั่วไปเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัย จะมีการใช้สิ่งที่เรียกว่า ICS หรือ Incident Command System คือระบบบัญชาการเหตุการณ์ ซึ่งระบบนี้ก็ต้องมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพราะต้องการให้เกิด Single Command เพื่อทำทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพที่สุด ถ้าระดับเล็ก ก็คือนายอำเภอ ถัดมาก็เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นก็เป็นรมว.มหาดไทย และสุดท้ายก็คือนายกรัฐมนตรี

 

ในเหตุการณ์นี้ มีงาน 3 ชิ้นใหญ่ๆ ที่ต้องทำขนานไป อันที่หนึ่งคือ งานระงับเหตุ ก็คือทีมที่จะเข้าไปดับไฟ ปิดวาวล์ ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ที่เราเห็นก็คือทีมกู้ภัยที่ทำ ซึ่งกรมที่เกี่ยวข้องกับการระงับเหตุโดยตรง คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

งานที่สองที่ขอย้ำว่าต้องทำขนานกันไปด้วยคือ การดูแลปกป้องสภาพแวดล้อม และรวมทั้งวิเคราะห์ว่าปนเปื้อนแค่ไหน จะออกแบบการจัดการอย่างไร เพื่อให้สภาพแวดล้อมกลับมาปลอดภัยอีกครั้ง และส่วนที่สามคือ การดูแลสุขภาพ ซึ่งจะมีคน 3 กลุ่มใหญ่ที่เราต้องดูแล กลุ่มแรก คือพนักงานโรงงาน เพราะเขาอาจจะได้รับผลกระทบจากสารเคมีนี้ กลุ่มที่สองคือกลุ่มทีมกู้ภัยหรือ First Responder ที่เข้าไปจัดการ และกลุ่มที่สาม คือประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ ก็ต้องเป็นสาธารณสุข ถ้าลงไปหน่วยย่อยก็คือ สาธารณสุขจังหวัด

 

เหตุการณ์นี้กว่าจะรู้ว่ามีสารอะไรบ้างที่ถูกไฟไหม้ ก็ประมาณ 1 ทุ่ม จากข้อมูลที่โรงงานเป็นคนบอก แต่จะยืนยันได้ไหมว่า สารที่โรงงานบอกจะเป็นอย่างนั้นจริง?

ตอนที่ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องพูดถึงวัตถุดิบหลักและวัตถุดิบรองที่มีอยู่ในโรงงาน เข้าใจว่าสิ่งที่เจ้าของโรงงานได้ให้ข้อมูลนั้นเป็นวัตถุดิบหลัก เพราะเขาเป็นโรงงานผลิตโฟม ก็จะต้องใช้สไตรีนโมโนเมอร์เป็นวัตถุดิบหลัก แต่แค่สารนี้ตัวเดียวไม่พอ ก็ควรจะต้องมีสารอื่นๆ อีกที่มาใช้

ประเด็นอยู่ที่ว่า สารอื่นๆ มีมากน้อยแค่ไหน แล้ววิธีการที่โรงงานเก็บสารเคมีแต่ละประเภทได้มีการแยกแยะไหม เพราะสารเคมีหรือวัตถุอันตรายนั้น ในทางสากลจะมีการแบ่งแยกเป็น 9 ประเภท บางตัวไวไฟ บางตัวมีคุณสมบัติทำให้คนอื่นติดไฟ บางตัวระเบิดง่าย

ซึ่งถ้าโรงงานนี้มีสารเคมี 100 ชนิด ก็ต้องมาจำแนกว่า แต่ละชนิดมีคุณสมบัติอะไร และแยกเก็บให้ชัดเจน เพราะอาจเกิดประกายไฟและเป็นปฏิกิริยากันเอง ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้อาจจะมาตอนท้ายก็ได้ แต่มีตัวอื่นที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา

ข้อมูลเหล่านี้จะอยู่รายงานประเมิน และจะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า ตอนที่เข้าไปเผชิญเหตุ เราจะเจอกับอะไร เพราะตอนแรกที่ทีมกู้ภัยเข้าไปคิดว่าเป็นแค่ไฟไหม้โรงงานธรรมดา ก็เลยใช้น้ำดับไฟ?

นี่คือสิ่งที่อยากเน้นว่า เมื่อเกิดเหตุอย่างนี้ ควรจะใช้เวลาซักนิดในการหาข้อมูลให้ได้ ถ้ามีรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ว่านี้ ก็เอามาเป็นจุดวิเคราะห์ความเสี่ยงตั้งต้น ขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงสารเคมีอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้ถูกเขียนในรายงาน แต่มีผลกระทบด้วย

 

ซึ่งถ้าวิเคราะห์แล้วก็จะรู้แต่ต้นเลยว่า ควรจะใช้น้ำหรือไม่ เพราะสารเคมีหลายชนิดถ้าดูที่ฉลากจะมี W ที่มาจากคำว่า water และมีเส้นขีดตรงกลาง แบบนี้แปลว่าถ้าเกิดเหตุห้ามใช้น้ำดับไฟ เพราะน้ำจะทำให้ไฟยิ่งหนักขึ้นไปอีก ก็ควรจะต้องมีการวิเคราะห์ตรงนี้ เพื่อตัดสินใจว่าจะใช้โฟมแต่ต้น หรือใช้น้ำ

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับทีมกู้ภัย พบว่า คนเหล่านี้มีความตั้งใจดีและมีความพร้อมทางจิตใจสูงมากที่จะเผชิญเหตุ แต่ในเรื่องของทักษะ ข้อมูลที่จำเป็น และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพจริงๆ เขาอาจจะมีน้อย ก็เลยทำให้เกิดการสูญเสีย

ถ้าเรามีการประชุมก่อนดับเพลิงว่า อะไรที่เราจะต้องดับ ดับด้วยอะไร วิธีไหน น่าจะทำให้ลดการสูญเสียลงไปได้ และเหตุการณ์ก็อาจจะไม่ลุกลามขนาดนี้

จุดอพยพประชาชน มีอะไรที่จะต้องพิจารณาบ้าง?

ต้องพิจารณาผลกระทบสุขภาพจากเหตุการณ์นี้ จะมี 2 สาเหตุใหญ่ อันแรกคือ สารเคมีที่ติดไฟและทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และอันที่สองคือ การเกิดไฟไหม้อย่างรุนแรงซึ่งทำให้เกิดฝุ่นควันและไอความร้อนที่ทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะฉะนั้นในระยะแรกที่เกิดไฟไหม้ ก็จะต้องดูเรื่องของการสำลักควัน ไฟลวก หรือระเบิดและทำให้เกิดการบาดเจ็บ เป็นผลกระทบต่อสุขภาพตรงจุดเกิดเหตุ

 

เมื่อพูดถึงพิษสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ ถ้าเกิดการเผาไหม้ก็ต้องมีการสารลูกออกมาด้วย ตัวหนึ่งที่น่าสนใจคือ เบนซีน ซึ่งพิษที่เกิดขึ้นจะมี 2 ระยะเวลา คือพิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังหรือพิษระยะยาว

ในกรณีพิษเฉียบพลัน ทั่วๆ ไปก็จะมีผลกระทบต่อ 3 ระบบใหญ่ของร่างกาย อันที่หนึ่ง อาจจะมีอาการแสบคัน ระคายเยื่อบุ อันที่สองคือ บางคนอาจมีผลต่อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ที่อาจจะระคายคอ ไอจาม มีน้ำมูกเสมหะ บางคนอาจถึงขั้นหายใจไม่ออก และอันที่สามคือ กระทบต่อระบบประสาทและสมอง จะทำให้เกิดอาการมึนเวียนศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน

ส่วนในระยะยาว ก็จะมีทั้งยาวแบบเป็นเดือนและเป็นปี กรณีแบบเป็นเดือน โดยทั่วไปที่เห็นคือ จะเกิดอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เหมือนมีเสมหะอยู่ตลอดเวลา ไออยู่เรื่อยๆ บางทีก็เจ็บหน้าอก หรือบางคนก็เกิดภาวะที่เรียกว่า หลอดลมไวเกิน หมายความว่า หลังจากนี้หากเราเจอสารเคมีหรือฝุ่น ก็จะระคายตลอด

และสุดท้าย กรณีเป็นปี อย่างที่เราทราบกันว่า เบนซีน เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหลักๆ ที่พบคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยทั่วไปถ้าได้รับสารเคมีในปริมาณที่สูงพอ ก็จะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ที่จะเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว

คำถามคือ แล้วจะดูแลยังไง ก็จะต้องมีการขึ้นทะเบียนผู้สัมผัส เราควรจะรู้ว่าพนักงานโรงงานมีกี่คน สมมุติว่ามี 1 พันคน มีกี่คนที่อพยพไปแล้วและไม่น่าจะได้สารเคมี หรือมีอยู่ 100 คนที่ยังอยู่ในโรงงานและทำงานคู่กับทีมกู้ภัย และได้รับสารเคมีเยอะเช่นกัน ส่วนทีมกู้ภัยที่เข้าไปทำกิจกรรมมีกี่คน มีคนที่อยู่แถวหน้าที่รับสารเคมีเข้าไปเต็มๆ หน้ากากไม่ทันได้ใส่ และประชาชนมีกี่คนที่อยู่ติดรั้วโรงงาน

รัศมีที่ห่างจากโรงงาน มีอะไรเป็นเกณฑ์ที่จะต้องใช้ในการขึ้นทะเบียน?

ในเรื่องการพยากรณ์ว่า สารเคมีจะรั่วไหลไปทางไหน เรามีโปรแกรมคอมพ์พิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ ซึ่งเวลาคาดการณ์ก็ต้องขึ้นกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่ใส่เข้าไปด้วยว่า มีข้อมูลที่เพียงพอหรือเปล่า เพราะต้องอาศัยความเร็วลม ทิศทางลม ความชื้นในอากาศ รวมทั้งอุณหภูมิด้วย

เวลาที่สารเคมีรั่วและกระจาย บางชนิดก็กระจายเป็นวงกลม บางชนิดกระจายแบบใบพัด บางชนิดก็เป็นวงรี ซึ่งบางทีข้อมูลไม่เพียงพอ ก็เลยคิดสูตรสำเร็จโดยใช้รัศมีจากทิศทางลม

ทิศทางลมหลักของประเทศไทยคือลมมรสุม เรามีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้น อะไรก็ตามที่อยู่ในทิศนี้ ก็จะพัดกลับไปมาอยู่อย่างนี้

ประเด็นคือ การที่สารเคมีพัดไปมา ซึ่งการดับไฟยากง่ายก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่จะมีผลต่อคนคือ จุดอพยพ คือเราไม่ควรจะชะล่าใจว่า ลมกำลังพัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเราอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

แปลว่าเราอยู่ใต้ลมแน่ๆ ไม่อยู่เหนือลม เพราะถ้าลมพัดกลับมาเมื่อไหร่ ก็จะกลับมาหาเราทันที ดังนั้น จุดอพยพที่ปลอดภัยควรจะตั้งฉาก คือควรอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หรือตะวันตกเฉียงใต้กับทิศทางลม จะได้ไม่มารบกวนแน่ๆ

แต่คำถามว่าควรจะอยู่ห่างกี่กิโลเมตร อันนี้เป็นไปได้หมด เพราะสารเคมีมีหลายประเภท บางชนิดลอยต่ำ บางชนิดลอยสูง อย่างที่เห็นในเหตุการณ์นี้ ช่วงแรกควันจะลอยขึ้นข้างบน แต่ต่อมาควันจะหนักและอยู่ข้างล่าง แสดงว่ามีสารเคมีหลายชนิด เพราะลักษณะกลุ่มควันที่แตกต่างกัน

เหตุการณ์นี้ไฟไหม้แค่ 24 ชั่วโมง แต่ทำไมต้องติดตามเฝ้าระวังสุขภาพยาวนานขนาดนั้น?

เพราะร่างกายมนุษย์มีความซับซ้อน สถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้เห็นแล้วว่ามีหลายเรื่องที่เราทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ ในเรื่องพิษจากสารเคมีก็เช่นกัน การที่ใครจะเป็นพิษมากน้อย ร่างกายแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าในภาพรวมก็จะเกิดอาการทางสมองหรือการระคายเยื่อบุ หรือการระคายทางเดินหายใจ

 

แต่ถ้าเป็นภาวะพิษเรื้อรังระยะยาว เช่น มะเร็ง บางคนได้รับสารเคมีแค่ครั้งเดียว ก็เป็นมะเร็งเลย บางคนได้รับหลายครั้ง แต่ร่างกายมีการจัดการได้ ก็ไม่เป็นมะเร็ง เพียงแต่ว่าเราไม่รู้ว่าเราเป็นประเภทไหน

หมอกำลังจะบอกว่า เรามีบทเรียนการจัดการเหตุการณ์ในอดีตที่ติดตามผู้สัมผัสสารเคมีอยู่ไม่นานก็เลิกไป?

ใช่ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า เราต้องขึ้นทะเบียนผู้สัมผัสในเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้าเราเป็นประชาชนธรรมดาเราต้องถามตัวเองว่า ตลอด 25 ชั่วโมงที่ไฟไหม้ เราอยู่ตรงไหน เราอยู่ริมรั้วโรงงานประมาณ 5 ชั่วโมง เสร็จแล้วเราเคลื่อนย้ายตัวเองไปที่จุดอพยพ และอยู่ตรงนั้นตลอด 20 ชั่วโมงที่เหลือ และเราก็อยู่ตรงนั้นประมาณ 2 วัน ถึงได้กลับบ้านตอนที่หน่วยงานบอกว่ากลับได้แล้ว คือเราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่า สัมผัสมากน้อยแค่ไหน อยู่ตรงไหน

และถ้าจะต้องมีการช่วยเหลือจากภาครัฐและการดูแลทั้งหมด ก็จะต้องมีระบบขึ้นทะเบียน ซึ่งเราอาจจจะให้ประชาชนลงทะเบียนในแอพ ถ้าหมอพร้อมใช้ได้ ขอยืมมาใช้ลงทะเบียนกรณีนี้ได้ไหม หรือทางฝั่งท้องถิ่นที่จะรู้ทะเบียนบ้านของประชาชนอยู่แล้วว่ามีกี่หลังคาเรือน มีใครบ้าง ก็อาจจะทำให้รวบรวมข้อมูลได้เร็วขึ้น

ถ้าย้อนหลังกลับไปเหตุการณ์แบบนี้ที่เคยเกิดขึ้น ถ้าย้อนไปนานที่สุดก็คือปี 2534 ไฟไหม้โกดังสารเคมีที่ท่าเรือคลองเตย ในกรณีนั้นเราพบว่า 16 ปีผ่านไป หมอได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและพยาบาลว่า ไม่สบาย ก็ไปนั่งคุยซักประวัติกัน และทราบว่าพยาบาลป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพราะตอนเหตุการณ์คลองเตย ต้องเข้าไปดูแลประชาชนคลองเตยที่ไฟไหม้ยาวนานถึง 6 เดือน

หรือกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อำนวยความสะดวกและได้รับควันเต็มที่ ก็เป็นมะเร็งที่ต่อมไทมัส ทั้ง 2 เคสนี้ในชีวิตไม่ได้สัมผัสเหตุการณ์อะไรที่ก่อมะเร็งนอกจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

กรณีทะเลสีดำหรือเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด เราพบว่า กำลังพลของกองทัพเรือประมาณ 2,000 กว่านาย ที่สัมผัสน้ำมันในครั้งนั้น ก็อาจจะมีใครบางคนที่ถึงขั้นเป็นมะเร็ง ดังนั้น เราก็จะบอกเขาว่า ในอนาคตถ้าเขาเป็นมะเร็ง ตอนที่ไปหาหมอให้บอกหมอด้วยว่า เขาเคยมีประวัติแบบนี้ เพราะบางทีหมออาจจะไม่ถาม แต่เราก็ต้องบอก timeline ของเรา

Timeline โควิด เอาแค่ 14 วัน แต่ Timeline เรื่องสารเคมีมันทั้งชีวิต มันย้อนไปไกล อย่างคนที่คลองเตย ปี 2534 ตอนนั้นทำอะไรอยู่ ถ้าอยู่ในเหตุการณ์ ก็ต้องไล่มาเรื่อยๆ

ดังนั้น คนที่เจอเหตุการณ์โรงงานระเบิดครั้งนี้ ก็ต้องถือเป็นจุดสำคัญของชีวิตที่จะต้องมาร์กเอาไว้ว่า ถ้าในอนาคตข้างหน้าแล้วเขาเกิดเป็นมะเร็ง หรือมีความเจ็บป่วยเรื้อรัง จะต้องคิดถึงว่า อาจจะเกิดจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ถ้าวันนี้เริ่มจากการขึ้นทะเบียนทั้ง 3 กลุ่ม แล้วต้องติดตาม กลไกอะไรที่ทำให้ติดตามกลุ่มสัมผัสเหล่านี้ได้?

สุดท้ายอาจจะต้องกลับไปที่ประชาชนที่จะต้องดูแลตัวเอง เพราะอย่างกรณีคลองเตย ภาครัฐให้ความสนใจอยู่ประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นก็เงียบไป เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด กองทัพเรือไปดูแลกำลังพลได้แค่ประมาณปีครึ่ง แล้วทุกคนก็ปลดระวางไป ส่วนกรณีไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา ก็มีการดูแลทีมดับเพลิง โดยโรงพยาบาลของ กทม. ร่วมมือกันดูแล ก็ทำได้ประมาณ 6 เดือนแล้วก็หายไป

เราไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐที่จะเกาะติดและดูแลกันไประยะยาว กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีความพยายามทำ ก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคมีหน่วยงานกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมที่พยายามเซ็ทระบบเฝ้าระวังระยะยาว แต่ก็ลำบากมาก เพราะการเฝ้าระวังต้องมีการตรวจสุขภาพ มีอุปกรณ์ในการตรวจซึ่งราคาแพง ถ้าจะตรวจให้ทุกคนก็ไม่มีงบประมาณ

ถามหามาตลอดว่า ควรจะเป็นความรับผิดชอบของใคร ถ้าเป็นฝั่งของพนักงานโรงงานหรือทีมกู้ภัย กรณีนี้ยังมีโอกาสที่จะได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทน แต่สำหรับประชาชนแล้ว ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่มีกองทุนไหนมาดูแล

เคยบอกว่าโรงงานก็ควรมีกองทุน คล้ายกับกองทุนดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โรงงานสารเคมีที่มีความเสี่ยงสามารถผูกโยงให้ต้องมาประกันสร้างระบบเฝ้าระวังระยะยาว ไม่ใช่แค่ประกันความเสียหาย แต่ต้องมีเงินมาทำให้ภาครัฐสามารถดูแลประชาชนได้

สำหรับประชาชนแล้ว ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่มีกองทุนไหนมาดูแล เคยบอกว่าโรงงานก็ควรมีกองทุน คล้ายกับกองทุนดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โรงงานสารเคมีที่มีความเสี่ยงสามารถผูกโยงให้ต้องมาประกันสร้างระบบเฝ้าระวังระยะยาว ไม่ใช่แค่ประกันความเสียหาย แต่ต้องมีเงินมาทำให้ภาครัฐสามารถดูแลประชาชนได้

 

2 R ที่คุณหมอสะท้อนชัดว่า มีข้อจำกัดแน่ๆ พอมาฟื้นฟูแล้วก็มีบทเรียนที่ทำบ้างไม่ทำบ้าง และกรณีแบบนี้ไม่ได้มีโรงงานเดียว เหมือนมีระเบิดเวลาวางไว้ แล้วเราจะทำยังไง?

ก็สุดท้ายระหว่างรัฐบาลกลาง ท้องถิ่น และภาคประชาชน เราจะเชียร์ใครมากกว่ากัน เราจะเชียร์ให้ประชาชนเข้มแข็งและลุกขึ้นมาทำแผนที่และระบุไปว่า โรงงานนี้ระเบิดได้แน่ๆ เราก็ควรจะต้องพยายามไม่อยู่ใกล้ๆ หรือถ้าเกิดเหตุขึ้นมา จะมีจุดรวมพลยังไง

หรือจะเชียร์ท้องถิ่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อปท. ทวงถามถึงความปลอดภัยของชุมชน และใช้กฎหมายท้องถิ่นหรืออำนาจในการกำกับดูแลของท้องถิ่นเข้าไปจัดการให้เกิดความปลอดภัยขึ้น หรือเชียร์กรมโรงงานให้ออกกฎหมายใหม่ หรือหน่วยงานส่วนกลางที่จะออกกฎใหม่เพื่อจัดการเรื่องเหล่านี้ คงไม่ตอบคำถาม แต่ตั้งคำถาม

ให้คะแนนการจัดการเหตุการณ์ครั้งนี้เท่าไหร่?

เต็ม 10 ได้ 5 เพราะทำได้ดีกว่านี้ สงสารน้องกู้ภัยที่ต้องเสียชีวิต แต่คิดว่านอกจากทำให้เขาเป็นวีรบุรุษแล้ว เราก็ต้องทวงถามว่า มันเป็นการเสียชีวิตที่น่าจะป้องกันได้ ทำไมเราไม่ป้องกัน สงสารน้องกู้ภัยที่ต้องเสียชีวิต แต่คิดว่านอกจากทำให้เขาเป็นวีรบุรุษแล้ว เราก็ต้องทวงถามว่า มันเป็นการเสียชีวิตที่น่าจะป้องกันได้ ทำไมเราไม่ป้องกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง