"เดลตา" ระบาดเร็ว คาดการณ์สัปดาห์หน้าติดเชื้อแตะหลักหมื่น

สังคม
7 ก.ค. 64
16:02
26,113
Logo Thai PBS
"เดลตา" ระบาดเร็ว คาดการณ์สัปดาห์หน้าติดเชื้อแตะหลักหมื่น
"พญ.อภิสมัย" ระบุมีการคาดการณ์ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2 เท่าใน 2 สัปดาห์ เน้นย้ำประชาชนเคร่งครัดมาตรการป้องกัน ฉีดวัคซีนและลดเคลื่อนย้าย พร้อมจัดตั้ง รพ.สนามระดับสูงที่ "สนามบินสุวรรณภูมิ" รองรับ 5,000 เตียง

วันนี้ (7 ก.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,519 คน หายป่วยเพิ่ม 4,148 คน เสียชีวิต 54 คน ขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาอยู่ใน รพ. 67,614 คน อาการหนัก 2,496 คน (ใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 คน)

ส่วนยอดการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 6 ก.ค.2564 สะสม 11,328,043 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 8,245,297 คน และเข็มที่ 2 จำนวน 3,082,746 คน โดยต้องการเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป้าหมาย 12.5 ล้านคน และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เป้าหมาย 5.3 ล้านคน

อัตราติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มสูง-อัลฟาลดลง

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การเดินทางข้ามพื้นที่ของประชาชนจากพื้นที่เสี่ยง กลับไปต่างจังหวัด ทำให้ขณะนี้มีการกระจายเชื้อ COVID-19 ไป 40 จังหวัด โดยภาคเหนือ 11 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรวม 88 คน ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรวม 65 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรวม 218 คน และภาคใต้ 3 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรวม 6 คน

ขณะที่การตรวจคัดแยกผู้ป่วยใน กทม. ขณะนี้พบสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) น้อยลง แต่พบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) มากขึ้น ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่า การเดินทางข้ามจังหวัดทำให้มีการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลตาได้มากขึ้น

 

ผู้เชี่ยวชาญนำเสนอรายละเอียดของสายพันธุ์เดลตาที่ขณะนี้มีการระบาดหลายพื้นที่ โดยในต่างประเทศที่พบการระบาดอย่างหนักคือ สหราชอาณาจักร พบในประชากรที่ติดเชื้อเกิน 90% สหรัฐอเมริกาพบเพิ่มขึ้น 20% และมีรายงานว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 ยังมีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์นี้ได้

ยกตัวอย่าง ประเทศอังกฤษ มีรายงานผู้ติดเชื้อ 92,029 คน ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดลตา พบว่า 20,000 คนในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ได้รับวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว และผู้ที่รับวัคซีนเข็ม 2 ไปแล้วแต่ยังพบการติดเชื้อมี 7,235 คน โดยรวมแล้วมีข้อดีคือ คนที่ฉีดวัคซีนมีเปอร์เซ็นเพียง 8% ที่มีอาการหนัก นอนโรงพยาบาล และทำให้ยอดการเสียชีวิตต่ำลงอย่างชัดเจน

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงเน้นย้ำให้ผู้ที่มีผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัว ขอความร่วมมือให้ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา อาจทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว-ผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิต

ขณะที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเมินว่า ประเทศไทยเริ่มพบสายพันธุ์เดลตาในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริการายงานว่า สายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้เร็ว จึงมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่าภายใน 2 สัปดาห์

จะเห็นตัวเลขจาก 1,000 ขึ้นเป็น 2,000 จากนั้นขึ้นเป็น 4,000 มีการคาดการณ์สัปดาห์หน้าตัวเลขอาจขึ้นได้ถึง 10,000 จึงต้องเน้นย้ำประชาชนเรื่องมาตรการป้องกัน ลดการเคลื่อนย้าย เฝ้าระวังผู้สูงอายุ และฉีดวัคซีน

กทม.ติดเชื้อเพิ่ม 1,549 คน-พบอีก 2 คลัสเตอร์ใหม่

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า วันนี้ (7 ก.ค.) มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน กทม. 1,549 คน และยังพบคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เขตมีนบุรี ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 17 คน และโรงงานผลิตจิวเวลรี่ เขตบางนา

นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก กทม. ว่า มีผู้ป่วยสีแดงในพื้นที่ประมาณ 40-50 คนต่อวัน สีเหลือง 200-300 คนต่อวัน สีเขียว 300-400 คนต่อวัน การสะสมใน 2 สัปดาห์ เห็นได้ชัดว่าแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทั้งระดับเขียว-เหลือง-แดงเข้ามา ตัวเลขสะสมในช่วงนี้จึงสูงขึ้นในระดับ 1,000 คน

ขณะที่การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เจ้าภาพหลักคือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ ศูนย์เอราวัณ มีศักยภาพในการขนผู้ป่วย 500 เที่ยวต่อวัน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการหารือการจัดการ 2 ส่วน คือ การเพิ่มศักยภาพในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไปที่ศูนย์บริการที่จะได้รับการดูแล โดยให้ความสำคัญกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง จะต้องเข้าสู่ระบบทันที ส่วนกลุ่มสีเหลือง ให้มีระยะเวลาคอยน้อยที่สุด อาจจะเป็น 1 วัน นำทุกคนเข้าสู่ระบบ และกลุ่มสีเขียว-สีขาว จะได้รับการจัดสรรให้ไปอยู่ที่ศูนย์พักคอยของ กทม.ก่อน

อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องการขยายศักยภาพเตียงรองรับ โดยที่ประชุมมีการพูดถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับสูงที่ "สนามบินสุวรรณภูมิ" เพราะผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น ล่าสุดคณะผู้บริหารของ สธ.ได้ลงสำรวจพื้นที่แล้ว หลังจากนี้จะมีการเตรียมความพร้อมของสถานที่ และจะสามารถเปิดรับผู้ป่วยได้ในเดือน ส.ค.นี้ คาดว่าจะรองรับได้ประมาณ 5,000 เตียง ซึ่งจะสำรองเตียงให้ผู้ป่วยวิกฤต 1,360 เตียง ส่วนที่เหลือเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียว

นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่อง Home Isolation หรือการอนุญาตให้ผู้ป่วยแยกกักและได้รับการดูแลอยู่ที่บ้าน ซึ่งยังถือว่ามีความเสี่ยง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สิ่งสำคัญต้องมีมาตรการให้ผู้ป่วยประเมินตนเองได้อย่างแม่นยำ มีการวัดอุณหภูมิและค่าออกซิเจน เป็นต้น และบุคลากรต้องติดตามสอบถามผู้ป่วยผ่านเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยด้วยเช่นกัน แต่การจะให้ผู้ป่วยคนใดแยกกักแบบ Home Isolation นั้นต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

การจัดมาตรการรองรับเหล่านี้ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับความปลอดภัยของผู้ป่วยแต่ละคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยพบติดเชื้อรายวันเพิ่มสูง 6,519 เสียชีวิตอีก 54 คน

"หมอนิติเวช" ตั้งข้อสังเกตยอดติดโควิด-ตาย มีมากกว่าที่เห็น

เตรียมใช้อาคาร SAT1 สนามบินสุวรรณภูมิทำ รพ.สนาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง