เสียงสะท้อน "เถียงนาโมเดล" กักตัวโควิด

สังคม
8 ก.ค. 64
12:20
7,124
Logo Thai PBS
เสียงสะท้อน "เถียงนาโมเดล" กักตัวโควิด
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สะท้อนความเห็น "เถียงนาโมเดล" ใช้กักตัวผู้ป่วย COVID-19 ของ "หมอทวีศิลป์" เพื่อแก้วิกฤติเตียงตึงไม่พอรับคนป่วย ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ขณะที่บางชุมชนในภาคอีสาน เตรียมสถานที่กักตัวรองรับกลุ้มเสี่ยงกลับบ้าน
ภาคอีสานเราพื้นที่กว้างขวาง เถียงนาโมเดล เกิดขึ้นอยู่ที่ภาคอีสาน คือกลับมาแล้วให้ไปนอนเถียงนา ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวป่วยก็ไม่มาก อาการไม่มาก กักตัวก็นอนอยู่ตรงนั้นได้มีคนส่งข้าวส่งน้ำเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งน่ารักมาก ๆ ก็ขอให้ใช้วิธีต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญา หรือเป็นการคิดจากพื้นที่ขึ้นมาช่วยกัน

ถ้อยคำของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้พูดถึงสถานที่พักสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการไม่มาก ในสถาน การณ์ที่โรงพยาบาลทั่วประเทศเตียงผู้ป่วย COVID-19 ตึงมือ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ในวงกว้างในโซเชียลมีเดียอย่างหลากหลาย ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

สำรวจความเห็น "เถียงนาโมเดล"

เพจดัง Drama-addict โพสต์ข้อความว่า "ไม่แนะนำครับ ตอนนี้อากาศร้อนอบอ้าว การกักตัวในที่แบบนั้นมันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่น่าจะสบายกับตัวผู้ติดเชื้อ หาสถานที่ที่มันที่กำบังแดดดีกว่า แล้วตอนนี้มีปัญหาผู้ติดเชื้อเดลต้าอาการทรุดลงเร็วมาก น่าจะต้องให้มีคนดูแลอาการใกล้ชิดเผื่ออาการเปลี่ยน แปลงจะได้รีบนำส่งโรงพยาบาลสถานที่กักตัว ควรอยู่ห่างจากผู้คนในระดับนึงแต่ต้องมีการติดตามอาการใกล้ชิดและเข้าถึงง่ายทั้งในด้านการขนส่งและการสื่อสาร

น.ส.จิราพร คำภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ทดลองใช้ชีวิตในเถียงนา อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เธอบอกว่าสำหรับเกษตรกรเถียงนา คือที่พักคอยในเวลาที่ไปทำนา เลี้ยงสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง 4 ด้านมีหลังคา และมีแค่น้ำดื่ม อาหารที่หุงหากันไป ไม่มีไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ หากจะนอนค้างแรมก็จะมีแค่เต็นท์กางนอนกันยุง

 

ส่วนตัวผูกพันกับวิถีเกษตร และอยู่กับเถียงนามาแต่เด็กๆ แม้จะมองว่าเป็นความโรแมนติก เพราะเราได้เห็นทุ่งนาเขียวขจี และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ฟังเสียงนกร้อง แต่เป็นการไปอยู่เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น 

ถ้าเอาคนป่วย COVID-19 มากักตัวในเถียงนา ส่วนตัวคิดว่าไม่เหมาะ เพราะว่าเขาเป็นคนป่วย อาจจำเป็นต้องใกล้หมอ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่านี้ เพราะไม่มีห้องน้ำ ไฟฟ้า ยิ่งสภาพอากาศที่อบอ้าวตอนนี้ จะทำให้คนกักตัวเครียดยิ่งขึ้น

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อาจจะมีคนติด COVID-19 น้อยกว่าสถานการณ์วันนี้ที่ติดมากขึ้น และมีเชื้อกลายพันธุ์ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในชุมชนได้ 

เตรียมรับกลุ่มเสี่ยงกักตัวในชุมชน 

ไทยพีบีเอส สำรวจการเตรียมความพร้อมรับกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยโควิด ของแต่ละชุมชน ใน ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ตามนโยบายของ ศบค.ที่มีแนวคิดจะให้ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงกักตัวที่เถียงนา ชาวนาบ้านหนองหล่ม บางคนบอกว่า ยินดีหากที่รักษา รับคนในชุมชนกลับมา เพราะตอนนี้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีคนเสียชีวิตทำสถิติใหม่ทุกวัน แต่หากจะใช้เถียงนาโมเดลตามที่โฆษก ศบค.เข้าใจนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะยิ่งจะทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างลำบากจึงไม่เห็นด้วย

เวลามาทำนามันจะเป็นที่พักผ่อนนอนไม่ได้หรอก ไม่มีไฟไม่มีน้ำไม่ได้หรอก ตอนเย็นเราก็กลับบ้าน ห้องนำ้ก็ไม่มี ไม่สะดวก ไม่ผ่าน

 

ขณะเดียวกันบางชุมชน ได้ประชุมหารือเพื่อหาสถานที่กับตัวกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงแต่ผู้ป่วยเบื้องต้นโดยนางสัมฤทธิ์ จันทเสน อสม.หมู่ 12 บ้านหนองแวงฮี กล่าวว่า ได้มีการประชุมเตรียมสถานที่ไว้แล้วโดยจะมีการนำพื้นที่อาคารไม่ได้ใช้ในชุมชน มาเป็นสถานที่กักตัว

ตอนนี้ก็เริ่มมีคนที่อยู่ในพื้นที่สีแดงทยอยเดินทางกลับมายังชุมชนต่อเนื่อง หลังจากนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบล เตรียมที่จะนำทั้งเตียงสนามเข้าไปติดตั้งรวมถึงระบบน้ำไฟ เพื่อที่จะใช้เป็นสถานที่กักตัวให้เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุข

ส่วนการใช้เถียงนาโมเดลเป็นสถานที่รักษาผู้ป่วย COVID-19 ยืนยันว่าไม่สะดวกเพราะเถียงนาแต่ละบ้านไม่ได้มีห้องน้ำ เถียงนาที่มีน้ำไฟส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มาอาศัยทำมาหากินอยู่ที่นาเท่านั้นซึ่งก็มีน้อย

เตรียมที่กักตัวรองรับแล้ว เป็นศาลาของหมู่บ้านที่ใช้สำหรับทำพิธีเลี้ยงปู่ ที่นี่มีห้องน้ำ ถ้ามาอยู่เถียงนาไม่มีห้องน้ำ

ขณะที่ชาวบ้าน ยอมรับว่ากังวลใจกับการที่ลูกหลานอาจจะนำเชื้อกลับมาแพร่ในชุมชนได้ แต่ขณะนี้เตียงผู้ป่วยใน กทม.และพื้นที่สีแดงวิกฤตแล้ว จึงยินดีที่จะรับลูกหลานกลับมารักษาตัวที่ชุมชน แต่ก็อยากให้แต่ละชุมชน เร่งเตรียมสถานที่กักตัวของแต่ละชุมชนไว้ด้วย 

เคยมีคนกักตัวในเถียงนาจริง 

ขณะที่ เพจวารินชำราบบ้านเฮา อุบลราชธานี โพสต์ภาพเถียงนาโมเดล น้องแอดมินทำมาแต่ปีก่อนแล้ว คนบ้านเฮามีจิตสำนึกดี กักโต ส่งข่าวน้ำ ช่วยกัน โรคสิได้บ่ แพร่สู่คนที่เฮาฮัก ข้อความระบุว่า

น้องแอดมินกลับมาจากไปสอนงานประเทศพม่า กักตัวตั้งแต่มาถึง อยู่กลางทุ่งนา ใกล้จะครบ 14 วันแล้ว น้องเขามีลูกน้อย มีครอบครัวที่น่ารัก แต่เพื่อครอบครัว รับผิดชอบตัวเองและสังคม จึงกักตัวอยู่คนเดียวกลางทุ่งนา กว่าจะผ่านไปแต่ละวัน หาปูหาปลา ปลูกผัก เลี้ยงวัว เป็นกำลังใจให้เด้อ น้องป้อกกี้สุดยอดอีหลี

 

ไอเดียนี้เกิดขึึ้นหลังจากเริ่มพบว่าการเดินทางกลับบ้านของคนในกทม.และปริมณฑล ที่กลับไปในช่วงปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้พบการติดเชื้อ COVID-19 กระจายใน 40 จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด 254 คน ภาคเหนือ 75 คน ภาคกลางและตะวันออก 45 คน ภาคใต้ 9 คน  (ข้อมูลวันที่ 6 ก.ค.) 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยพบติดเชื้อรายวันเพิ่มสูง 7,058 เสียชีวิตอีก 75 คน 

 "เดลตา" ระบาดเร็ว คาดการณ์สัปดาห์หน้าติดเชื้อแตะหลักหมื่น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง