อุบลฯเริ่มแล้ว "เถียงนาโมเดล" กักตัวผู้กลับจากพื้นที่เสี่ยง

ภูมิภาค
8 ก.ค. 64
12:01
5,121
Logo Thai PBS
อุบลฯเริ่มแล้ว "เถียงนาโมเดล" กักตัวผู้กลับจากพื้นที่เสี่ยง
จ.อุบลราชธานี เริ่มใช้ "เถียงนาโมเดล" รองรับผู้กลับจากพื้นที่เสี่ยงโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดต่อคนในครอบครัวและชุมชน หากเป็นผู้ป่วยจะส่งเข้ารับการรักษาทันที

วันนี้ (8 ก.ค.2564) นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายเเพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือการดูแลผู้ที่เดินทางกลับจากมายัง จ.อุบลราชธานี ว่า ทางจังหวัดได้เปิดคอลเซ็นเตอร์ให้ประชาชนที่จะประสงค์จะกลับภูมิลำเนาแจ้งเรื่องเพื่อให้ชุมชนช่วยดูแลจากนั้นให้ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) จัดหาสถานที่กักตัว และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม การจัดการขยะ และอื่น ๆ ให้

จากนั้นทีมสาธารณสุขจะติดตามดูแลอาการ หากเป็นผู้ที่เสี่ยงสูงที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 14 จังหวัด จะตรวจหาเชื้อ COVID- 19 ให้ทันที เมื่อกักตัวครบ 5-7 วันจะตรวจหาเชื้อ COVID-19 อีกครั้ง โดยให้ดำเนินการทุกอำเภอเนื่องจากพบว่าประชาชนหลายคนที่กลับมาไม่มีสถานที่กักตัวที่เหมาะสมและอาจนำเชื้อไปติดยังผู้อื่น

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า การระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาจะรุนแรง ซึ่งการระบาดรอบที่ผ่านมาแม้ว่า คนในครอบครัวจะป้องกันตัวไม่ดีมากนักแต่ก็ยังไม่มีการติดเชื้อไม่มาก แต่รอบนี้มีการติดเชื้อง่ายขึ้น รอบนี้จึงอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน

หากจะกลับมาของให้ท่านแจ้งเรื่องมาก่อน หากเป็นผู้ติดเชื้อจะติดต่อโรงพยาบาลและให้คำแนะนำต่าง ในการเดินทางกลับ ซึ่งก็จะช่วยลดการแพร่เชื้อในครอบครัวและชุมชน และช่วยลดการทำงานในการสอบสวนโรคและทำให้การแพร่ระบาดไม่เป็นวงกว้าง

นพ.สุวิทย์ ยังระบุว่า กรณีมีคำถามว่า เถียงนาอยู่ไกลและอาจไม่สะดวกในการกักตัวนั้น ในการดำเนินการเมื่อผู้ที่ต้องการจะเดินทางกลับมายัง จ.อุบลราชธานี และได้ติดต่อมายังคอลเซ็นเตอร์ ทางพื้นที่จะเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสมว่าจะอยู่ที่ไหน อย่างไร เมื่อพร้อมก็จะให้เดินทางกลับมาและไปอยู่ในสถานที่นั้นกักกันดังกล่าว และจะมีทีมที่ดูแลซึ่งจะดูแลให้ได้ตามมาตรฐาน สถานที่สามารถอยู่อาศัยได้ ซึ่งจะห่างไกลชุมชนพอสมควร

ทุกคนที่จะมาจะต้องแจ้งก่อน จะมีการสอบถามอาการ ความรุนแรง ขณะที่ผู้ที่มีอาการรุนแรงจะจัดหาสถานที่รักษาให้ซึ่งขณะนี้จัดหาให้ 3-4 คนแล้ว 

เตรียมพร้อมรับมือคนแห่กลับหลังล็อกดาวน์ 

นพ.สุวิทย์ ยังกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี หลังจากมีปิดแคมป์และเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงพบว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 500 - 700 คน หรือเดือนละ 10,000 คน โดยเข้าสู่ระบบเป็นส่วนใหญ่ อาจมีหลุดรอดบ้างวันละ 1-2 เคส

ขณะที่การล็อกดาวน์นั้น ทางผู้ว่าฯได้สั่งการให้เตรียมพื้นที่ทำ Local Quarantine ประจำทุกตำบลและทุกอำเภอ รองรับผู้ที่จะเดินทางกลับมาเพราะคาดการณ์ว่า จะมีผู้เดินทางกลับมามากขึ้นกว่าเดิม อาจขยายเป็น "สวนยางโมเดล" "กุฎิโมเดล" "โรงเรียนโมเดล" "รีสอร์ตโมเดล" ให้เกิดความหลากหลายในทางปฏิบัติ โดยนายอำเภอร่วมกับ รพ.สต นายก อบต.จัดหาพื้นที่และระบบรองรับไว้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่ 

 

ทั้งนี้ จ.อุบลราชธานี มีเป้าหมายฉีดวัคซีน 1.1 ล้านคน ขณะนี้ฉีดได้ 7-8 % เนื่องจากทยอยได้รับวัคซีนซึ่งมีขีดความสามารถในการฉีดวัคซีนได้วันละ 10,000 คน

ขณะที่ศักยภาพของบุคลากรในการรองรับผู้ติดเชื้อสามารถรองรับได้ โดยขณะนี้ได้เปิดโรงพยาบาลสนาม ขนาด 1,000 เตียง ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านยางน้อย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเชื่อว่าสามารถรองรับได้ทั้งระดับ 3-4 ทั้งผู้ป่วยสีเหลืองและแดง เชื่อว่าสามารถรองรับได้ หากสามารถกักกันตัวผู้ที่มีความเสี่ยงได้

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง