ปรับแผนฉีดวัคซีนบริจาค 2.55 ล้านโดส-แก้เตียงตึงหลังล็อกดาวน์

สังคม
9 ก.ค. 64
17:56
3,848
Logo Thai PBS
ปรับแผนฉีดวัคซีนบริจาค 2.55 ล้านโดส-แก้เตียงตึงหลังล็อกดาวน์
ศบค.มีมติปรับแนวทางจัดการวัคซีนบริจาคจากต่างประเทศ แบ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส และวัคซีนแอสตราเซเนกาอีก 1.05 ล้านโดส รวม 2.55 ล้านโดส ในพื้นที่เสี่ยงเป้าหมาย Booster dose 1 เข็มให้บุคลากรด่านหน้า ให้คนเข้าถึงระบบบตรวจหาเชื้อ ตั้ง ICU สนาม

วันนี้ (9 ก.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีมติข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการวัคซีนบริจาคจากต่างประเทศ แบ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส และวัคซีนแอสตราเซเนกาอีก 1.05 ล้านโดส รวม 2.55 ล้านโดส ดังนี้

การฉีดวัคซีนไฟเซอร์  1.5 ล้านโดส

ครอบคลุมกลุ่มบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ทั่วประเทศฉีดเป็น Booster dose จำนวน 1 เข็มกลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง 7 โรค ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต โดยจะกระจายสำหรับฉีด 2 เข็ม ห่าง 3 สัปดาห์ ยกเว้นกรณีบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า Booster dose 1 เข็ม แบ่งเป็นสัญชาติไทย 1.35 ล้านโดส ต่างชาติ 1.5 แสนโดส (ร้อยละ 10)

มีพื้นที่เป้าหมาย กทม. สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ที่มีการระบาดสายพันธุ์เบตา

ทั้งนี้การดำเนินการฉีดวัคซีน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กทม. บริหารจัดการในพื้นที่ ส่วนกรณีต่างชาติให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานงานหลัก

การฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 1.05 ล้านโดส

กลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ แบ่งเป็นฉีดให้คนไทย 945,000 โดส และต่างชาติ 105,000 โดส (ร้อยละ 10) ทั้งนี้พื้นที่เป้าหมาย กทม.สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต

ปรับมาตรการสาธารณสุขกทม.-ปริมณฑล

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีการปรับมาตรการด้านการแพทย์ และสาธารณสุขในกทม.-ปริมณฑลโดยให้กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโรงงาน เร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ให้สธ.ร่วมกับ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำระบบการแยกกักแบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร มาเสริมเพิ่มมาตรการรักษาพยาบาลท่ี่มีในปัจจุบัน เพื่อทดแทนการขาดแคลนเตียงพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ

รวมทั้งให้จัดตั้งไอซียูสนาม และโรงพยาบาลสนาม รวมถึงโรงพยาบาลสนามชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็วและมีจำนวนมากพอ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน! ศบค.เคาะล็อกดาวน์ 14 วัน เริ่ม 10 ก.ค.นี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง