สธ.เผยผู้ป่วยโควิดขึ้นทะเบียนแยกกักตัวที่บ้าน-ชุมชนแล้ว 600 คน

สังคม
10 ก.ค. 64
17:44
892
Logo Thai PBS
สธ.เผยผู้ป่วยโควิดขึ้นทะเบียนแยกกักตัวที่บ้าน-ชุมชนแล้ว 600 คน
สธ.ใช้มาตรการการแยกกักตัวที่บ้าน-ในชุมชน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย (สีเขียว) เข้าระบบการรักษาเร็ว แพทย์พยาบาลติดตามอาการใกล้ชิด ด้วยระบบเทเลเมดิซีน วันละ 2 ครั้ง ส่งอาหารครบ 3 มื้อ

วันนี้ (10 ก.ค.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวประเด็น “การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation)

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำ 2 มาตรการ คือ การแยกกักตัวที่บ้าน และการกักตัวในชุมชนมาใช้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมากขึ้น อัตราการครองเตียงของ กทม.และปริมณฑล เพิ่มจากเดือนที่ผ่านมาถึง 10,000 คน จากวันที่ 9 มิ.ย.2564 มีผู้ป่วย 19,629 คน เพิ่มเป็น 30,631 คน ในวันที่ 9 ก.ค.2564 โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก (สีเขียว) ร้อยละ 76, อาการปานกลาง (สีเหลือง) ร้อยละ 20 และอาการหนัก (สีแดง) ร้อยละ 4 ซึ่งผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 714 คน เป็น 1,206 คน ทำให้บุคลากรแบกรับภาระงานหนักมาก และการเพิ่มบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทำได้ยาก

สำหรับการแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชนนั้น ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์ของผู้ติดเชื้อ ต้องสมัครใจและสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้, สถานที่เหมาะสม ใช้จุดแข็งของไทยคือ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) โดย Home Isolation บ้านต้องมีห้องนอนแยก ส่วน Community Isolation ใช้วัด หรือโรงเรียน มีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล ติดตามอาการทุกวัน โดยแพทย์ พยาบาล วันละ 2 ครั้ง และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน

รวมทั้งต้องลงทะเบียนกับสถานพยาบาล (มีแผนขยายไปยังชุมชนอบอุ่น และสถานพยาบาลใกล้บ้าน) ผู้ติดเชื้อจะได้รับเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และแนะนำวิธีทดสอบง่าย ๆ กรณีสงสัยว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากปริมาณออกซิเจนลดลงมากกว่า 3 % จะรับมารักษาที่โรงพยาบาล และมีระบบรีเฟอร์ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การแยกกักตัวที่บ้านคือการ admit ผู้ป่วยรายใหม่ไว้ดูแลที่บ้านก่อน หากอาการแย่ลงจะรับมาดูแลรักษาที่โรงพยาบาล และเป็นการบริหารจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากที่ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน จะนำผู้ป่วยที่รักษา 7-10 วัน แล้วอาการดีขึ้น ออกไปแยกกักตัวที่บ้าน จะช่วยให้มีเตียงเพิ่มอีกประมาณ 40 -50% เพื่อรับผู้ป่วยใหม่

สำหรับการแยกกักตัวในชุมชน กรมการแพทย์ กทม. โรงเรียนแพทย์ ได้เตรียมสถานที่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้สถานที่โล่งๆ เช่น ศาลาวัด หรือหอประชุมโรงเรียน นอกจากนี้ยังสามารถใช้แคมป์คนงานหรือหมู่บ้านที่มีที่แยกตัวให้กับผู้ติดเชื้อ และไม่ควรเกิน 200 คนเพื่อลดแออัด และสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ แยกน้ำเสียหรือขยะออกจากชุมชนได้ โดยรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน ซึ่งขอขอบคุณภาคประชาสังคม และเพจต่าง ๆ ที่ช่วยประสานรวบรวมจำนวนผู้ป่วยมาขึ้นทะเบียน สนับสนุนอาหารให้ผู้ป่วย

เกณฑ์พิจารณาผู้ป่วย Home Isolation

สำหรับเกณฑ์พิจารณาผู้ป่วย Home Isolation จะต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อายุไม่เกิน 60 ปี อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคร่วม เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง โดยสถานพยาบาลจะประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ลงทะเบียน แนะนำการปฏิบัติตัว ติดตามประเมินอาการ และรับส่งผู้ป่วยมารักษาในสถานพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มทำแล้วที่โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 20 คน ได้ผลดี ทุกรายอาการดีขึ้น

 

ขณะนี้ มีผู้ขึ้นทะเบียน Home Isolation ที่ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตน์ราชธานี 200 กว่าคน และขึ้นทะเบียน Community Isolation อีกกว่า 200 คน และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมแล้วประมาณ 400-600 คน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ซึ่ง สปสช.สนับสนุนงบประมาณค่าอาหารให้กับผู้ป่วยทุกราย สำหรับผู้ติดเชื้อที่ต้องการร่วมโครงการ ติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1330

ด้าน นพ.ธเรศกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนต้องการตรวจหาเชื้อและพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมา กรม สบส. จึงประชุมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยอนุญาตให้ใช้การตรวจ Rapid Antigen Test เพื่อให้ตรวจหาเชื้อได้เร็วขึ้น ตามสถานการณ์เปลี่ยนไป และหากตรวจพบผู้ติดเชื้อ มีระบบการดูแล 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 หากโรงพยาบาลเอกชน มีเตียง และประเมิน ผู้ติดเชื้อเบื้องต้น พบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ควรรักษาในโรงพยาบาล เช่น อาการหนัก อายุมาก เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้หาเตียงรองรับ

แนวทางที่ 2 หากผู้ติดเชื้อแข็งแรงดี ไม่มีอาการ สถานพยาบาลเอกชนสามารถดำเนินมาตรการ “แยกกักตัวที่บ้าน” ได้ทันที โดยได้รับความยินยอมและสมัครใจจากผู้ติดเชื้อ

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation) เป็นการชั่วคราว และทำหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายการแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลติดตามอาการอย่างรวดเร็ว ดูแลค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นภาระ โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของกรมการแพทย์ ในการแยกกักตัวที่บ้าน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เนื่องจากใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทย ประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง เช่น กทม. มีคลินิกอบอุ่น ศูนย์อนามัย กทม. ส่วนพื้นที่ภูมิภาค มี รพ.สต. และ อสม. เบื้องต้นพบว่าสถานพยาบาลภาคเอกชนแทบทุกแห่ง มีระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านอยู่แล้ว เช่น Telemedicine ที่ได้การรับรองมาตรฐาน, ระบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน Home Health care

ขอความร่วมมือสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ได้ตรวจหาผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ขอให้ใช้วิธีการแยกกักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการตรวจหาเชื้อ เข้ารับการรักษา และทราบวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นในครอบครัวและชุมชน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง