กทม.จัด 200 ชุดเคลื่อนที่เร็วสกัดโควิด-ศบค.พบ 7 คลัสเตอร์ใหม่

สังคม
12 ก.ค. 64
13:26
2,402
Logo Thai PBS
กทม.จัด 200 ชุดเคลื่อนที่เร็วสกัดโควิด-ศบค.พบ 7 คลัสเตอร์ใหม่
ศบค.พบ 7 คลัสเตอร์ใหม่ ในพื้นที่ 7 จังหวัด ทั้งตลาด บริษัท โรงพยาบาลเอกชน บริษัทชิปปิ้ง ขณะที่ กทม.พบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมาก เดินหน้าแยกกักที่บ้าน-ชุมชน พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 200 ทีม ตรวจเชิงรุก กทม.

วันนี้ (12 ก.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 8,656 คน เป็นการติดเชื้อใหม่ 8,583 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 73 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 จำนวน 316,164 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 3,687 คน หายป่วยสะสมระลอกใหม่ 224,232 คน เสียชีวิตเพิ่ม 80 คน เสียชีวิตสะสม 2,697 คน ส่วนผู้ที่รักษาตัวอยู่ 90,578 คน อาการหนัก 2,895 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 747 คน

 

สำหรับผู้เสียชีวิต 80 คน เป็นชาย 37 คน หญิง 43 คน ค่ากลางอายุ 66 ปี (30-94 ปี) เป็นชาวไทย 79 คน เมียนมา 1 คน โดยอยู่ในกรุงเทพฯ 44 คน, สมุทรปราการ 6 คน, ปทุมธานี 3 คน, สมุทรสาคร 3 คน, ปัตตานี 5 คน, ยะลา 2 คน, สงขลา 1 คน, กำแพงเพชร 2 คน, เชียงราย เพชรบุรี กาญจนบุรี ภูเก็ต นครนายก ชลบุรี พิจิตร สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง อุตรดิตถ์ สมุทรสงคราม และอุดรธานี จังหวัดละ 1 คน โดยมีปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง 39 คน เบาหวาน 34 คน โรคไต 12 คน ไขมันในเลือดสูง 21 คน หลอดเลือดสมอง ติดเตียง 3 คน โรคหัวใจ โรคอ้วน 9 คน โรคปอด มะเร็ง 2 คน ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ 1 คน ไม่มีโรคประจำตัว 6 คน

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด

ทั้งนี้ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 2,399 คน สมุทรสาคร 591 คน สมุทรปราการ 405 คน ชลบุรี 399 คน ปทุมธานี 397 คน นครปฐม 315 คน นนทบุรี 313 คน ปัตตานี 215 คน ยะลา 201 คน และสงขลา 188 คน

 

คลัสเตอร์ใหม่ตลาดสดรัตนากร อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ติดเชื้อ 29 คน, บริษัทผลิตอุปกรณ์แก๊ส อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ติดเชื้อ 13 คน, โรงพยาบาลเอกชน อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ติดเชื้อ 7 คน, ร้านอาหาร อ.เมืองนครศรีธรรมราช ติดเชื้อ 12 คน, ตลาดสายหยุด อ.เมืองกาญจนบุรี ติดเชื้อ 7 คน, บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ติดเชื้อ 22 คน, บริษัทชิปปิ้ง อ.แม่สอด จ.ตาก ติดเชื้อ 7 คน

เมื่อมีการติดเชื้อในตลาด ชุมชน จะแพร่เชื้อต่อในครอบครัวและสถานที่ทำงาน

 

 

ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหา COVID-19 เชิงรุกในพื้นที่ กทม.โดย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ รายงานสถานการณ์ล่าสุด พบว่า ประชาชนยังมีความต้องการเตียงสูงมาก เมื่อวานนี้ (11 ก.ค.) ยังมีรถพยาบาลรับส่งผู้ป่วยระดับสีเขียว แต่วันนี้ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมีผู้ป่วยระดับสีเหลือง สีแดง ที่มีความต้องการเตียงสูงอย่างเร่งด่วนเป็นจำนวนมาก จึงขอสงวนเตียงรองรับกลุ่มดังกล่าว

จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 200 ทีม ตรวจโควิดเชิงรุก กทม.

ส่วนในระดับชุมชนจะจัดทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานทั้งบุคลากรทางการแพทย์ สำนักงานเขต และฝ่ายความมั่นคง ทำหน้าที่ค้นหาผู้ติดเชื้อภายในชุมชน และการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ หากพบผู้ติดเชื้อในระดับสีเขียวจะจัดให้แยกกักที่บ้าน (Home isolation)

ส่วนกรณีที่พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน จะให้อยู่ในสถานที่พักคอยในชุมชน หรือโรงพยาบาลสนามชุมชน หรือการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) หากอาการป่วยรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือพบการติดเชื้อในผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว จะมีระบบส่งต่อให้ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย

 

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและจะอนุญาตให้ประชาชน ใช้ Rapid Test Kit ที่มีมาตรฐาน โดยจะแถลงรายละเอียดการหารือและนโยบายการใช้ในเวลา 13.30 น.

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลตรวจออกมาเป็นลบยังต้องเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่องและแยกกักตัว โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง ที่แนะนำให้ตรวจซ้ำในวันที่ 5-7 ส่วนกรณีผู้ที่ตรวจครั้งแรกแล้วได้ผลเป็นบวก หรือติดเชื้อ ให้ติดต่อเข้าสู่ระบบ โทร.1330 เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธีที่ได้มาตรฐาน และเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ปลอดภัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง