ไฟเขียว "ฉีดวัคซีนสลับชนิด" ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา

สังคม
12 ก.ค. 64
14:18
5,670
Logo Thai PBS
ไฟเขียว "ฉีดวัคซีนสลับชนิด" ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา
คกก.โรคติดต่อฯ อนุมัติให้ฉีดวัคซีน COVID-19 สลับชนิด เข็มแรกเป็นซิโนแวค และเข็ม 2 แอสตราเซเนกา พร้อมเห็นชอบฉีดวัคซีน "บูสเตอร์โดส" กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าในเดือน ก.ค.นี้ เล็ง 1-2 สัปดาห์เร่งฉีดกลุ่มสูงอายุให้ได้ 1 ล้านคน

วันนี้ (12 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์ขรจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่ประชุมมีมติมติเห็นชอบ 4 ประเด็น คือ 1.การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 2.การให้ฉีดวัคซีนสลับ 2 ชนิด 3.แนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อ และ 4.แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community isolation) สำหรับผู้ป่วย COVID-19

สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้านั้น จะฉีดห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและเร็วที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบแล้วนานกว่า 3 เดือน จึงควรได้รับการกระตุ้นในเดือน ก.ค.ได้ทันที ซึ่งอาจเป็นวัคซีนแอสตราเซนเนกา หรือไฟเซอร์

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังเห็นชอบการฉีดวัคซีน COVID-19 สลับชนิด โดยเข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา

ผลวิจัยชี้ฉีดวัคซีนสลับชนิดกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า มีข้อมูลอ้างอิงอย่างน้อย 3 แหล่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีข้อมูลตรงกันว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดกัน จะมีประโยชน์ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น และเชื่อว่าจะสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้

ทั้งนี้มีการศึกษาว่า หากฉีดวัคซีนเข็ม 1 เป็นซิโนแวค หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา

การฉีดลักษณะนี้จะเป็นตัวกระตุ้นประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น และเชื่อว่าจะต่อต้านสายพันธุ์เดลตาได้ดีขึ้น

เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะอยู่ในระดับสูงได้เร็ว ใกล้เคียงกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม แต่หากฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็นเข็มแรก ก็ยังมีข้อแนะนำให้ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 2 โดยไม่ต้องสลับชนิดกัน

จากข้อมูลนี้ ที่ประชุม คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ จึงเห็นชอบให้สามารถฉีดวัคซีนสลับกันได้ โดยเข็ม 1 เป็นซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา ห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 สัปดาห์

ปรับแผนระดมฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ 1 ล้านคน

ขณะที่ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นการระบาดที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา และมีแนวโน้มแพร่ระบาดมากขึ้น จึงได้ปรับแผนการฉีดวัคซีน ระดมฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคทั่วประเทศ

โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในพื้นที่ระบาดรุนแรง เช่น กทม.และปริมณฑล ให้ได้ 1 ล้านคน ภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมากกว่า 80 % เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวหากติดเชื้อมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-11 ก.ค.2564 ฉีดวัคซีนไปแล้ว 12,569,213 โดส แบ่งเป็นเข็ม 1 จำนวน 9,301,407 คน และเข็ม 2 จำนวน 3,267,806 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี! ซื้อได้แล้วเร็วๆ นี้ "ชุดตรวจโควิด"ตรวจเองที่บ้าน

อย.รับรอง 24 บริษัท นำเข้า "Rapid Antigen Test" ชุดตรวจเร่งด่วน

กทม.จัด 200 ชุดเคลื่อนที่เร็วสกัดโควิด-ศบค.พบ 7 คลัสเตอร์ใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง