"นพ.ยง" ชี้แจงทำไมต้องปรับสูตรไขว้วัคซีน

สังคม
13 ก.ค. 64
11:34
3,565
Logo Thai PBS
"นพ.ยง" ชี้แจงทำไมต้องปรับสูตรไขว้วัคซีน
"นพ.ยง" ระบุการสลับชนิดวัคซีนมาจากการศึกษาวิจัย ซึ่งพบว่าผู้ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานสูงใน 6 สัปดาห์ ด้านองค์การอนามัยโลกเตือนเป็นแนวทางที่ค่อนข้างอันตราย ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขยังคงตัดสินใจใช้วัคซีนสลับชนิดได้บนพื้นฐานข้อมูลที่มี

วันนี้ (13 ก.ค.2564) จากกรณีที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบการฉีดวัคซีน COVID-19 สลับชนิด เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตราเซเนกา ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา

ซึ่งต่อมา โซเมีย สวามินาตัน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก เตือนว่าการใช้วัคซีนสลับชนิดเป็นแนวทางที่ค่อนข้างอันตรายสำหรับบุคคลทั่วไป เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลสนับสนุนมากเพียงพอ ส่วนหน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ยังคงตัดสินใจใช้วัคซีนสลับชนิดได้บนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่

ขณะที่ เทดรอส อะดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศร่ำรวยยังไม่ควรสั่งวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อฉีดให้ประชาชน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ บางประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

นพ.ยง เผยผลวิจัยฉีดวัคซีนสลับชนิด

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Yong Poovorawan" เรื่อง COVID-19 วัคซีน การศึกษาวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติจริง การสลับชนิดของวัคซีน โดยระบุว่า

"ทางศูนย์ได้มุ่งมั่นทำการศึกษาวิจัย โดยทีมนักวิทยาศาสตร์และคณะแพทย์มากกว่า 30 ชีวิตที่ทำอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง COVID-19 vaccine ที่มีโครงการทำอยู่มากกว่า 5 โครงการ เพื่อนำมาใช้อย่างเร่งด่วนในประเทศไทยให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่

การสลับชนิดของวัคซีน เราทำมาโดยตลอดและเห็นว่า การให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) แล้วตามด้วยไวรัส Vector (แอสตราเซเนกา) จะกระตุ้นได้ดีมาก

การให้วัคซีนเชื้อตายที่เป็นทั้งตัวไวรัส เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทาน เมื่อกระตุ้นด้วยต่างชนิดโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า booster effect เหมือนกับคนที่หายแล้วจากโรค COVID-19 และได้รับวัคซีนเสริมอีก 1 ครั้ง ก็จะมีการกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งได้ทำการทดลองแล้ว

การศึกษานี้เราไม่ได้ทำเฉพาะการตรวจวัดภูมิต้านทานเท่านั้น ยังได้ทำภาวะขัดขวางไวรัส inhibition test ที่สามารถขัดขวางได้ดีมาก เฉลี่ยถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และมีหลายรายถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ในทำนองเดียวกันการให้เชื้อตาย 2 เข็ม ยิ่งสอนให้ร่างกายเหมือนกันติดเชื้อจริงแบบเต็มๆ หรือแบบรุนแรง แล้วเมื่อมากระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัส Vector จึงมี Booster effect ที่สูงมาก การศึกษาวิจัยของเราไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรากำลังทำการศึกษากับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ delta และระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่เรียกว่า T cell หรือ CMIR

แน่นอนการศึกษานี้ ฝรั่งไม่ทันแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตาย และจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้ ข้อมูลขณะนี้ผมมีเป็นจำนวนมาก มากพอที่จะสรุป เพราะทุกท่านให้ความร่วมมือดีมาก รวมทั้งอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษาเป็นจำนวนมาก ผมต้องขอขอบคุณอย่างยิ่ง

ข้อดีที่ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขยอมรับ และนำมาปรับใช้ในเชิงนโยบายจากการศึกษานี้

1. ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานที่สูงภายในเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเร็วกว่าการให้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทยที่จะได้ภูมิต้านทานสูง ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ เหมาะสมกับการที่โรคกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ซึ่งเรารอไม่ได้

2. เป็นการปรับใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ขณะนี้ที่จำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด

3. การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย virus Vector สามารถทำได้ให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงมาก โดยไม่ต้องรอวัคซีนชนิดอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคลากรทางการแพทย์

ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกในบันทึกในหมอพร้อมมีมากกว่า 1,200 คน โดยที่ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด"

ขณะที่วันนี้ (13 ก.ค.) เวลา 13.30 น. จะมีการแถลงกรณีการให้วัคซีน COVID-19 สลับชนิด ที่กระทรวงสาธารณสุข

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง