"นพ.ยง" ชี้ฉีดวัคซีนสลับชนิด เพิ่มภูมิต้านทานเร็วขึ้น 6 สัปดาห์

สังคม
13 ก.ค. 64
14:28
2,046
Logo Thai PBS
"นพ.ยง" ชี้ฉีดวัคซีนสลับชนิด เพิ่มภูมิต้านทานเร็วขึ้น 6 สัปดาห์
"นพ.ยง" แถลงชี้แจงฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 สลับชนิดกัน ระบุช่วยลดระยะเวลาในการเพิ่มภูมิต้านทานเร็วขึ้น 6 สัปดาห์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ขณะที่การศึกษาเบื้องต้นผู้รับวัคซีนต่างชนิดในไทย 1,200 คน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง

วันนี้ (13 ก.ค.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงกรณีการฉีดวัคซีน COVID-19 ต่างชนิด โดยระบุว่า COVID-19 แพร่ระบาดในประเทศมานานกว่า 1 ปี และจะหยุดได้ก็เพราะวัคซีน ซึ่งการลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องการ และหากป้องกันการติดเชื้อด้วยจะดียิ่งขึ้น

วัคซีนทุกชนิดประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอ "เดลตา"

สำหรับประเทศไทย เริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 หลังจากนั้นมีการรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ฉีดได้ 13 ล้านโดส ยังไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนด การที่ีไม่สามารถไปถึงได้เนื่องจากปริมาณวัคซีนมีจำกัด และจำเป็นต้องบริหารจัดการวัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุด ดังนั้นการศึกษารูปแบบการให้วัคซีนจึงมีความจำเป็น 

นพ.ยง อธิบายว่า ในระยะแรกของการแพร่ระบาดของ COVID-19 วัคซีนทุกยี่ห้อผลิตจากต้นแบบของไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น และกระบวนการผลิตที่ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เชื้อ COVID-19 ก็มีการกลายพันธุ์ เพราะพยายามหนีจากระบบภูมิต้านทาน ดังนั้นบริษัทใดที่ผลิตก่อน แล้วใช้สายพันธุ์เดิมในการผลิตวัคซีน ก็จะมีประสิทธิภาพที่เริ่มต่ำลง

ในไทยใช้วัคซีนซิโนแวค (วัคซีนเชื้อตาย) และวัคซีนแอสตราเซเนกา (ไวรัลเวกเตอร์) โดยแบ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย เช่น วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่วัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์นั้นใช้แอสตราเซเนกา ซึ่งทั้ง 2 ชนิดต่างกันสิ้นเชิง

ช่วงแรกวัคซีนซิโนแวค สามารถสร้างภูมิต้านทานเท่ากับหรือสูงกว่า ผู้ที่หายป่วยแล้ว ซึ่งเมื่อเริ่มใช้ในช่วงแรก การป้องกันโรคจึงมีประสิทธิภาพสูง แต่เมื่อไวรัสกลายพันธุ์จึงทำให้หลบหลีกวัคซีนเชื้อตายได้ง่ายกว่า

แต่จากการศึกษาการให้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มนั้น มีภูมิเท่ากับผู้ที่หายจาก COVID-19 สายพันธุ์อู่ฮั่น แต่สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ซึ่งต้องการภูมิต้านทานที่สูงขึ้น ทั้งนี้วัคซีนทุกชนิดประสิทธิภาพลดลงทุกตัว โดยเฉพาะกับวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เมื่อลดลงก็ยังพอป้องกันได้

แต่เดิมคิดว่าวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม ป้องกันไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นได้ แต่เมื่อเจอสายพันธุ์เดลตา แอสตราฯ 1 เข็มกันไม่ได้ แต่กว่าจะรอ 2 เข็มต้องใช้เวลา 10 สัปดาห์หรือนานกว่า จึงจะป้องกันได้ จึงเป็นที่มาของการหาจุดสมดุลว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเร็วที่สุด เหมาะสมที่สุด ขณะที่ไวรัสเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม

ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานเร็วขึ้น 

นพ.ยง กล่าวว่า การใช้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันไม่พอสำหรับไวรัสที่กลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์เดลตา แต่แอสตราเซเนกา 1 เข็ม ก็ไม่เพียงพอต่อการป้องกัน

แต่หากรอฉีดครบ 2 เข็มก็จะช้าเกินไป จึงนำมาสู่การศึกษาการฉีดวัคซีนซิโนแวค (วัคซีนเชื้อตาย) ก่อนและตามด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา (ไวรัลเวกเตอร์)

การฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน เปรียบเสมือนทำให้ร่างกายติดเชื้อและไปสอนหน่วยความจำร่างกาย จากนั้น 3-4 สัปดาห์ค่อยกระตุ้นด้วยไวรัลเวกเตอร์ ที่มีอำนาจกระตุ้นเซลล์ต้านทานได้มากกว่า ซึ่งผลที่ออกมากระตุ้นได้สูงกว่าที่คาดคิดไว้ สูงขึ้นเร็ว แม้จะสูงไม่เท่าแอสตราเซเนกา 2 เข็ม แต่ได้เร็วในเวลา 6 สัปดาห์ แทนที่จะรอ 12 สัปดาห์

จากการศึกษาคนไข้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม จำนวนมากกว่า 40 คน ภูมิต้านทานสูงหรือเท่ากับผู้ที่หายป่วยแล้ว โดยหลักการน่าจะป้องกันโรคได้ แต่เมื่อไวรัสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตา ทำให้ภูมิเท่ากันไม่สามารถป้องกันได้

แต่การศึกษายังพบว่า การฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็มห่างกัน 10 สัปดาห์ แล้ววัดภูมิต้านทานที่ 14 สัปดาห์ พบว่าภูมิต้านทานจะสูงในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้

 

จากการศึกษายังพบว่า การให้วัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 ภูมิต้านทานจะขึ้นมาใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ซึ่งแม้ว่าจะน้อยกว่า คือ ภูมิต้านทานจะอยู่ที่เกือบๆ 800 กับ 900

ซิโนแวคเมื่อฉีด 2 เข็ม อยู่ที่ 100 ขณะที่การติดเชื้อตามธรรมชาติ จะอยู่ที่ 70-80 ทำให้โอกาสที่จะป้องกันมีมากกว่า และใช้เวลาในการเพิ่มภูมิต้านทานเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น แต่หากฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็มจะใช้เวลานาน 12 สัปดาห์ หรือนานกว่า 1 เท่าตัว

ในสถานการณ์การระบาดของโรคที่รุนแรง ขณะนี้รอเวลา 12 สัปดาห์ไม่ได้ ต้องการให้ภูมิขึ้นเร็ว จึงน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับไทย โดยขณะนี้ไทยมีวัคซีน 2 ชนิด จึงเป็นความเหมาะสมในเวลานี้

ซึ่งหากอนาคตมีวัคซีนที่ดีกว่า สามารถสลับเข็มได้ดีกว่า ค่อยหาวิธีการที่ดีกว่าต่อไป และหากไวรัสกลายพันธุ์มากกว่านี้ อาจมีวัคซีนที่เฉพาะเจาะจงกับสายพันธุ์นั้นๆ 

ฉีดสลับชนิด 1,200 คน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง 

นพ.ยง กล่าวอีกว่า เรื่องความปลอดภัยของวัคซีนต้องมาก่อน จึงจำเป็นต้องศึกษา และจากการศึกษาเบื้องต้นการฉีดสลับชนิดในไทยมากกว่า 1,200 คน และมากที่สุดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ข้อมูลตามที่ถูกบันทึกในแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ในจำนวน 1,200 คน ไม่มีบุคคลใดที่มีอาการข้างเคียงรุนแรง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่ามีความปลอดภัยในชีวิตจริง ขณะที่ผลการศึกษาจะนำมาให้ดูอีกครั้งประมาณ 1 เดือนหลังจากนี้

การใช้วัคซีนสลับชนิดกันต้องมีการศึกษานำมาก่อน การใช้วัคซีน mRNA สลับกับวัคซีนไวรัลเวกเตอร์เริ่มในประเทศอังกฤษ เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนในขณะนั้น จึงเริ่มนำมาใช้

โดยใช้วัคซีนแอสตราเซเนกากับวัคซีนไฟเซอร์ และมาศึกษาดูผล พบว่าขณะนี้บุคคลสำคัญของยุโรปได้ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในเข็มแรก และวัคซีนไฟเซอร์ในเข็มที่ 2

ในไทยแม้จะบอกว่าไม่ควรสลับ แต่ในการปฏิบัติจริงมีการสลับกัน และผลข้างเคียงที่ลงใน "หมอพร้อม" ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงและผลการศึกษาทางคลินิกจะออกภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้

ทั้งนี้ การให้วัคซีนจะเป็นแนวทางช่วยหยุดวิกฤตของ COVID-19 ซึ่งขณะนี้ควรฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน แต่เนื่องจากวัคซีนมีจำนวนจำกัด จึงขอให้กับกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรด่านหน้าให้รับวัคซีนเต็มที่ก่อน และเมื่อมีวัคซีนมากพอก็จะฉีดให้ตามลำดับความสำคัญต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง