หมอ-พยาบาลอาสา ดูแลทางไกล ผู้ป่วยโควิด Home Isolation

สังคม
14 ก.ค. 64
10:45
4,558
Logo Thai PBS
หมอ-พยาบาลอาสา ดูแลทางไกล ผู้ป่วยโควิด Home Isolation
อาสาสมัครนับพันร่วมใจเข้าร่วมโครงการดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่รักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation ติดตามอาการทางไกล ช่วยผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดอัตราป่วยหนักและเสียชีวิต นำร่องดูแลผู้ป่วยกลุ่มแรกสนับสนุนคลินิกชุมชนอบอุ่นวันนี้วันแรก
ไม่อยากให้คิดว่าการอยู่ที่บ้านเป็นเรื่องแย่ หรือ คนไข้ถูกทิ้ง แต่การอยู่บ้านสำหรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวเป็นเรื่องที่ทำได้เป็นปกติ ทั้งในยุโรปและต่างประเทศ วันนี้เราเสริมทัพหมอ พยาบาล มาช่วยให้คำปรึกษาและดูแลทางไกลเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้คนไข้ด้วย

ยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 8,000 คน ติดต่อกันเป็นวันที่ 6 จนส่งผลให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ผู้ป่วยตกค้างรอเตียงจำนวนมาก สปสช.จึงปรับแนวทางดูแลผู้ป่วยสีเขียวที่ตกค้างรอหาเตียง เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้านโดยให้คลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่เป็นผู้ดูแลติดตามอาการ


ขณะเดียวกันกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ก็เริ่มรวมตัวกันเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่บ้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงคณะทำงานพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาโควิด-19 และการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัว ประเทศไทย และชมรมแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัว ที่ได้ประกาศหากลุ่มอาสาสมัครทั้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรเข้าร่วมโครงการ ล่าสุด มีผู้สมัครเข้าร่วมแล้ว 1,283 คน


พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่ง​ประเทศไทย หนึ่งในกำลังสำคัญของโครงการดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่รักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation นำประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่บ้านมาอย่างยาวนาน เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดทัพทีมแพทย์ 13 คน พยาบาล 10 คน นำร่องดูแลผู้ติดเชื้อจำนวน 25 คน วันนี้ (14 ก.ค.2564) เป็นวันแรก

ต้องบอกว่าเราเป็นทีมเสริมคลินิกชุมชนอบอุ่น และ สปสช.สายด่วน 1330 ในการดูแลผู้ติดเชื้อลงทะเบียนเข้าระบบ ก่อนติดต่อเพื่อซักประวัติ คัดแยกสีผู้ป่วย ไปจนถึงติดตามอาการผ่านทางโทรศัพท์และไลน์ ควบคุมกับการทำงานของทีมแพทย์พยาบาลที่ลงพื้นที่ชุมชนด้วย

คัดแยกสีผู้ติดเชื้อ - ดูแลสีเหลืองถึงแดงจนหาเตียงได้

สำหรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ออกเป็นเกณฑ์สี คือ สีเขียว - เหลืองอ่อน สามารถเข้าระบบ Home Isolation ได้ เจ้าหน้าที่คลินิกชุมชนอบอุ่นจะส่งอุปกรณ์จำเป็นและยาเบื้องต้นสำหรับโรคประจำตัว และฟ้าทะลายโจรไปให้

ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองแก่ไปจนถึงสีแดง เจ้าหน้าที่จะประสาน 1330 เพื่อขอเตียงให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะมีการดูแลผู้ป่วยต่อ ซึ่งอาจมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์เบื้องต้นโดยทีมแพทย์ จนกว่าผู้ป่วยจะได้เข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล

ขณะนี้ยังรอปลดล็อกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ แต่เบื้องต้นโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สำรองไว้ให้แล้ว 5,000 เม็ด และกำลังประสานโรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลแม่ข่ายต่าง ๆ เพื่อสำรองยาเพิ่มเติมด้วย


สำหรับทีมอาสาตั้งเป้าหมายจะช่วยดูแลผู้ติดเชื้อได้รอบละ 1,000 คน หรือแบ่งทีมพยาบาลออกเป็น 4 ทีม ติดตามผู้ติดเชื้อ 1 คน ตั้งแต่วันแรกจนครบ 14 วัน หรือจนหายเป็นปกติ ซึ่งตัวเลขผู้ป่วย COVID-19 ที่จะสามารถกักตัวในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 40,000 คน ดังนั้น จำนวนอาสาสมัครที่ต้องการมาเสริมทัพเรียกได้ว่าไม่จำกัด ยังพร้อมรับเพิ่มต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยจนหายดี ลดอัตราการเสียชีวิตลงไปได้

ช่วยผู้ติดเชื้อเข้าถึงระบบรักษาให้เร็วลดป่วยหนัก-เสียชีวิต

ขณะที่ พญ.สายรัตน์ นกน้อย รองประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และประธาน​อนุกรรมการวิชาการ ระบุว่า การติดตามประจำวันจะมีการให้คำแนะนำการแยกกักตัวเอง ทำความเข้าใจกับผู้ติดเชื้อและญาติ ประเมินผู้ป่วยผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์หรือไลน์ พร้อมติดตามสภาพร่างกายทั้งอุณหภูมิ ค่าออกซิเจน รวมไปถึงสภาพจิตใจของผู้ติดเชื้อซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้

การดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน เป็นการดำเนินการเพื่อให้เขาเข้าถึงการรักษาให้ได้เร็วและมากที่สุด เพราะเรามองว่าการดูแลอย่างถูกวิธี และเข้าถึงยารักษาได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะสถานการณ์คนไข้สีเหลืองและสีแดงที่รอเตียงอยู่จำนวนมาก 

Home Isolation จุดเริ่มต้นสร้างความเข้าใจผู้ติดเชื้อในชุมชน

นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การดูแลผู้ป่วยที่บ้านประเทศไทยไม่ได้เริ่มจาก 0 เพราะเป็นงานดั้งเดิมของราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อต้องสู้กับโรคอุบัติใหม่รวมถึง COVID-19 ด้วย Home Isolation ทางราชวิทยาลัยฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมาตรฐานกำกับดูแลคุณภาพ

การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน จากประสบการณ์สิ่งสำคัญคือการเคลียร์ความกังวลให้ผู้ติดเชื้อและคนในครอบครัวไปจนถึงชุมชน โดย 80% ของความคาดหวังของคนไข้ คือ การได้พูดคุยกับแพทย์ - พยาบาล เพื่อสร้างความมั่นใจ ราชวิทยาลัยฯ จึงเข้ามาช่วยเป็นอาสาเสริมทัพในส่วนนี้


นอกจากนี้ นพ.อภินันท์ ยังระบุอีกว่า การเริ่ม Home Isolation จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนไทยเริ่มเข้าใจการดูแลผู้ป่วยที่บ้านมากขึ้น ผ่านการดูแลกันในชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งหน่วยงานรัฐอาจมีการประสานจ่ายเงินให้ชุมชนช่วยดูแลเรื่องน้ำ - อาหาร ให้ผู้ติดเชื้อ สร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างความเกื้อกูลและความเข้าใจ ลดความกลัวหรือรังเกียจ หากสิ่งเหล่านี้หลอมรวมกันจะช่วยลดปัญหาคนติดเชื้อ COVID-19 ถูกตีตราจากสังคมแม้ว่าจะหายแล้วลงไปได้อีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง