เสียงสะท้อนมาตรการเยียวยาที่หายไป

เศรษฐกิจ
14 ก.ค. 64
12:28
1,015
Logo Thai PBS
เสียงสะท้อนมาตรการเยียวยาที่หายไป
การประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่ระบาดรุนแรงของ COVID-19 ในพื้นที่ 10 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลากหลายสาขาอาชีพ มาตรการเยียวยาที่ ครม.เคาะออกมาในพื้นที่สีแดงเข้มช่วย 5 สาขาอาชีพ ประชาชนบางคนบอกว่าตรงกับความต้องการของประชาชนอยู่บ้าง

หลัง ศบค.ประกาศล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนหลากหลายอาชีพ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนในพื้นที่ 10 จังหวัดควบคุมสูงสุด ทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบการใน 9 กิจการ ประกอบด้วย ก่อสร้าง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ ขายส่ง ขายปลีกและซ่อมยานยนต์ ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า

กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ และข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท เพื่อลดผลกระทบในระยะสั้น สำหรับกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคม เป็นเวลา 1 เดือน

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือในระบบประกันสังคมมาตรา 33 นายจ้างและผู้ประกอบการ จ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อคน สูงสุดไม่เกิน 200 คน ส่วนลูกจ้างจ่ายเพิ่มเป็น 2,500 บาทต่อคน รวมค่าชดเชยจากประกันสังคมร้อยละ 50 ไม่เกิน 7,500 บาท

สำหรับผู้ประกันตน ตาม ม.39 และ ม.40 ได้ 5,000 บาทต่อคน ผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน

ส่วนโครงการคนละครึ่ง และเราชนะ กรณีมีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค.นี้เช่นกัน และผู้ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตน เพื่อขอรับสิทธิการเยียวยาเช่นเดียวกับสถานประกอบการประเภทอื่น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสำหรับประชาชนทั่วไป ลดค่าไฟฟ้า เป็นเวลา 2 เดือน ก.ค. - ส.ค. และลดค่าน้ำประปา ในเดือน ส.ค. - ก.ย. วงเงินรวม 12,000 ล้านบาท 

ขณะที่ ที่ตลาดนัดยิ่งเจริญ ย่านสะพานใหม่ ผู้ค้าหายไปเกินครึ่งจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ผู้ค้าหลายคนยอมรับว่า ได้รับผลกระทบและต้องการการเยียวยาจากรัฐ เช่น การลดค่าน้ำค่าไฟ การจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งมาตรการที่ออกมาถือว่าตรงกับความต้องการบางส่วน

แต่อีกส่วนที่ยังไม่ถูกพูดถึง คือ เรื่องการพักหนี้ เพราะหลายคนมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องผ่อนชำระแต่รายได้หายไป จึงต้องการให้รัฐบาลพิจารณาในส่วนนี้ด้วย

ผู้ค้าบางส่วนบอกว่า รายได้จากการขายสินค้าแทบไม่พอค่าใช้จ่าย เพราะประชาชนลดการออกจากบ้าน เดินตลาดน้อยลง และเห็นด้วยกับการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็ควรพักหนี้ชั่วคราวโดยขณะนี้ต้องกู้เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำ

ขณะที่ผู้ประกอบการบางราย เห็นว่ามาตรการที่ออกมายังไม่มีความชัดเจน เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ และมีเงื่อนไขการลดอย่างไร ผู้ประกอบการจะได้รับการลดด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ประชาหลายคนเห็นตรงกันว่า มาตรการที่ออกมาในครั้งนี้อาจจะช่วยได้ในระยะสั้น รัฐต้องเร่งควบคุมการระบาดและฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับประชาชนโดยเร็ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง