ทุกข์ "ไรเดอร์" หลังล็อกดาวน์ คู่แข่งมาก กลยุทธ์แอปฯ เดือด

เศรษฐกิจ
14 ก.ค. 64
12:41
995
Logo Thai PBS
ทุกข์ "ไรเดอร์" หลังล็อกดาวน์ คู่แข่งมาก กลยุทธ์แอปฯ เดือด
การยกระดับมาตรการคุมโควิด-19 ทำให้หลายคนทำงานที่บ้านมากขึ้น เป็นโอกาสของร้านอาหารที่ให้บริการผ่านแอปฯ รวมทั้งไรเดอร์ที่มีอยู่นับเเสนคนมีรายได้เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

การเเข่งขันของ ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือเเอปพลิเคชัน ดุเดือด ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น บางเเอปฯ เเข่งขันไม่ไหว ยอมเปลี่ยนมือไป บางเเอปฯต้องงัดกลยุทธ์ให้ได้มากที่สุด

อย่างบางเเอปฯ ประกาศไม่เก็บค่าธรรมเนียม (ค่าจีพี) ซึ่งช่วยให้ "ไรเดอร์" หรือ ผู้รับจ้างส่งอาหาร มีรายได้เพิ่มขึ้น เเต่ช่วงเวลาที่จำกัด เพราะเคอร์ฟิวบางวันไม่ได้ตามเป้าหมาย

ไทยพีบีเอสลงพื้นที่ติดตามชีวิตไรเดอร์ หรือผู้รับจ้างส่งอาหาร ผ่านโมบายแอปฯ บริเวณใต้สะพาน ข้ามแยกเกษตร ถ.พหลโยธิน เป็นแหล่งรวมไรเดอร์ทุกค่าย

เพราะย่านนี้เป็นอีกจุดที่มีร้านอาหาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า และที่อยู่อาศัย เรียกได้ว่า ในรัศมี ไม่เกิน 5 กิโลเมตร ไรเดอร์สามารถถึงร้าน และส่งมอบอาหารให้กับผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็ว

ไรเดอร์บางคนบอกว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของบริษัท ซึ่งไม่คิดค่าบริการส่งอาหาร ทำให้ปริมาณการเรียกใช้แอปฯ เพิ่มขึ้น

ในแต่ละรอบการวิ่งรับงาน จะได้รับค่าตอบแทนเริ่มต้น 55 บาท ไปจนถึงหลักพันบาท

ส่วนการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวส์ ส่งผลกระทบต่อการทำรอบ รับงานส่งอาหาร จึงต้องออกจากบ้าน เพื่อมาประจำจุดนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เพื่อประคองรายได้เฉลี่ยวันละ 1,100 บาท ถึง 1,500 บาท

ขณะที่ไรเดอร์อีกคน บอกว่า Work from home 100 % อาจดูเหมือน อาชีพไรเดอร์ จะทำเงินได้ดี แต่จำนวนไรเดอร์ที่เพิ่มมากขึ้น จากผู้ว่างงาน เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

ประกอบกับ บริษัทผู้ให้บริการแอปฯ แต่ละราย มีนโยบายกระจายงานให้ไรเดอร์แตกต่างกัน ส่งผลกระทบต่อการหารายได้ที่ไม่แน่นอน

ร้านขายขนมเบื้องโบราณ บอกว่า ไม่สนใจสมัครเป็นร้านอาหารบนแอปฯ ไม่ใช่เพราะข้อจำกัดเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะแอปฯ ส่วนใหญ่ ผลักภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จนไม่คุ้มค่ารายได้ที่ได้

ร้านจึงรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าประจำทางโทรศัพท์โดยตรง และจ้างให้วินมอเตอร์ไซค์ไปส่งอาหาร ซึ่งช่วยกระจายรายได้ และลูกค้า ไม่ต้องแบกภาระค่าอาหารสูง

เนื่องจากการเข้าร่วมเป็นผู้ค้าอาหารในแอปฯ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขผู้ให้บริการหลายอย่าง เช่น ปกติขายขนมเบื้อง 20 ชิ้น 50 บาท แต่หากขายบนแอปฯ ต้องขายเป็นชุด ในราคาเกือบ 100 บาท จึงเลือกที่จะขายเองไม่พึ่งพาเเอปฯ

บางเเอปฯ อย่าง โรบินฮู้ด ชูจุดขาย ไม่เก็บค่าจีพี เฉลี่ยร้อยละ 25-35 ของยอดขาย และในช่วงล็อกดาวน์แบบนี้ ยังจัดหนักช่วยร้านอาหารออกโปรส่งฟรีทุกออเดอร์ ตั้งแต่วันที่ 11-25 ก.ค. รวม 15 วัน เพื่อช่วยให้ร้านเล็กมีออเดอร์เข้า ลดค่าใช้จ่ายฝั่งผู้ใช้ แถมจ่ายให้ไรเดอร์เต็มจำนวน ไม่มีหัก

ถือว่าตอบโจทย์ร้านอาหาร ลูกค้ากดเเอปฯ สั่งได้โดยไม่กังวลค่าส่ง เเต่ยังไม่ทันไร มีคนทดลองสั่งอาหารในแคมเปญดังกล่าว ปรากฎว่ามีผู้บริโภคสั่งอาหารเป็นเมนูไข่ดาว ราคา 5 บาท ให้ไปส่งที่บ้านในจ.สมุทรปราการ แต่ร้านที่สั่งไข่ดาวนั้นอยู่ไกลถึงจ.ปทุมธานี

ซึ่งดูจาก Google Map มีระยะทางไกลถึง 60 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีการสั่งของหวานจากกรุงเทพฯ ไปส่งสมุทรสาคร สั่งฟาสต์ฟู้ด จากกรุงเทพฯ ไปปทุมธานี เป็นต้น

กรณีปัญหาดังกล่าว นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 กล่าวว่า การกลั่นแกล้งกันเเบบนี้ เข้าข่ายกฎหมายอาญา มาตรา 397 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

ทั้งนี้กฎหมายคุ้มครองทุกอาชีพ ทุกคน ไม่เลือกรวยจน ใหญ่เล็กไม่สำคัญ อย่ากลั่นแกล้งข่มเหงกัน หากใครเจอปัญหานี้ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจได้

จากตัวเลขของ ยูโรมอนิเตอร์ ประเมินว่า มูลค่าตลาดรวมของฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทย ปี 2563 อยู่ที่ 68,000 ล้านบาท ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 74,000 ล้านบาท และมูลค่าตลาดจะเพิ่มไปเรื่อยๆ ซึ่งภายในปี 2567 มูลค่าตลาดจะทะลุ 99,000 ล้านบาท นั่นแปลว่าจากนี้ไป ตลาดจะเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 10 ต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง