"หมอมานพ" เผยผลวิจัย Real World Data "โมเดอร์นา" ในกาตาร์

สังคม
14 ก.ค. 64
18:21
4,435
Logo Thai PBS
"หมอมานพ" เผยผลวิจัย Real World Data "โมเดอร์นา" ในกาตาร์
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร เปิดผลวิจัย Real World Data ของประสิทธิภาพวัคซีนโมเดอร์นาในกาตาร์ โดยมีผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็มราว 2.5 แสนคน และฉีดครบ 2 เข็มราว 1.8 แสนคน พบประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา 88.1% ในเข็มแรก และสูงถึง 100% เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม

วันนี้ (14 ก.ค.2564) ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ใน Nature Medicine ศึกษาข้อมูลการใช้จริง (Real World Data) ของประสิทธิภาพวัคซีน (vaccine effectiveness) หรือ VE จากประเทศกาตาร์อีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นบทความฉบับเต็ม (full paper) หลังจากเมื่อ 2 เดือนก่อน ทีมวิจัยเดียวกันเผยแพร่ผลการศึกษาใน New England ในรูปแบบ Letter to Editor 

ใน Nature Medicine นั้น ทีมผู้วิจัยเลือกทำการวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งเริ่มฉีดให้ประชาชนหลังวัคซีนไฟเซอร์ โดยเริ่มระหว่างเดือน มี.ค.เป็นต้นมา การวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง มี.ค. - 10 พ.ค. มีประชาชนกาตาร์ได้รับโมเดอร์นาอย่างน้อย 1 เข็มราว 250,000 คน และฉีดครบ 2 เข็มราว 180,000 คน

ผลการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนโมเดอร์นาเข็มแรกต่อเชื้อสายพันธุ์อัลฟา (Alpha variant) สูงถึง 88.1% และถ้าครบ 2 เข็มได้สูงถึง 100% ในขณะที่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่อเชื้อสายพันธุ์บีตา (Beta variant) ได้ 61.3% และสูงถึง 96.4% เมื่อได้ครบ 2 เข็ม

ตัวเลขนี้ดีกว่าข้อมูลที่ลงใน New England มาก ซึ่งรายงานนั้นเป็นผลการศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนไฟเซอร์ในประชากรขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย คือ มีผู้ได้รับไฟเซอร์อย่างน้อย 1 เข็มราว 385,000 คน และครบ 2 เข็มราว 265,000 คน พบว่าวัคซีนไฟเซอร์เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่อสายพันธุ์อัลฟา 89.5% ในขณะที่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่อเชื้อสายพันธุ์บีตาได้ 75%

ตัวเลขประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่ต่างกันของวัคซีน 2 ชนิดนี้ เชื่อว่าปัจจัยสำคัญมาจากอายุเฉลี่ยและโรคร่วมของประชากรที่ได้รับวัคซีน มากกว่าจะเป็นผลจากประสิทธิภาพของตัววัคซีนเอง เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ก่อน จึงมีการฉีดตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา จนราวเดือน มี.ค.ปีนี้ วัคซีนโมเดอร์นาจึงได้รับอนุมัติให้ใช้

ดังนั้นกลุ่ม Pfizer cohort ในช่วงการศึกษาแรกจึงเป็นประชากรสูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ในขณะที่ Moderna cohort เป็นประชากรอายุน้อย (อายุเฉลี่ยราว 30 ปี) จึงเห็นประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่สูงกว่ามาก

ข้อมูลนี้น่าจะเป็นหลักฐานทางคลินิกที่สนับสนุนได้ดีว่า อายุและโรคประจำตัวร่วม เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง สอดคล้องกับระดับแอนติบอดี (antibody) หลังได้รับวัคซีนที่มักต่ำกว่าประชากรอายุน้อยด้วย


ศ.นพ.มานพ ระบุอีกว่า สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การศึกษานี้ มีการสุ่มตรวจประชากรชาวกาตาร์ ด้วย RT-PCR เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ ทำให้การติดเชื้อที่ตรวจพบเกือบ 2 ใน 3 เป็นการตรวจโดยผู้ติดเชื้อไม่ได้มีอาการหรือป่วยเป็น COVID-19 แต่เป็นการตรวจด้วยเหตุอื่น เช่น สุ่มตรวจ, ตรวจก่อนเดินทาง และตรวจก่อนทำการรักษาโรคอื่น ฯลฯ ถือเป็นข้อมูลยืนยันได้อีกว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้จริง ๆ

ถือเป็นการศึกษาแรกที่เป็น Real World Data ขนาดใหญ่ของวัคซีนโมเดอร์นา หลังจากมีข้อมูล Real World Data ของวัคซีนอื่นออกมาก่อนหน้านี้

แม้จะยังไม่มีข้อมูลขนาดใหญ่ของไวรัสสายพันธุ์เดลตา (Delta variant) แต่เทียบความดื้อของไวรัสสายพันธุ์บีตา (Beta variant) ที่ไม่แพ้ใคร ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า VE น่าจะยังสูงเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/articles/s41591-021-01446-y

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง