ประชาชนเรียกร้องแก้ปัญหาหนี้สิน

เศรษฐกิจ
15 ก.ค. 64
09:26
551
Logo Thai PBS
ประชาชนเรียกร้องแก้ปัญหาหนี้สิน
ประชาชนบางส่วน เรียกร้องให้ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินเพิ่มเติมจากมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ หลังจากรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 42,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับคุม COVID-19

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2564 จากมาตรการล็อกดาวน์ ประชนชนในบางอาชีพประสบความลำบากมากขึ้น เเม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาช่วยลดค่าครองชีพ ซึ่งช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เเต่ประชาชนที่มีหนี้สิน อาจจะยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก เนื่องจากค่าใช้จ่ายรายวันที่หายากแล้ว หนี้สินที่คั่งค้างอยู่เป็นภาระที่ไม่หยุดนิ่งเหมือนกัน ประชาชนบางส่วนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเเก้ปัญหาหนี้สินด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกล่าสุด กลายเป็นตัวเร่งให้ปัญหาหนี้สินเพิ่มพูนมากขึ้น เช่น นายเจษฎา ฤทธิ์เรืองไกร เจ้าของร้านอาหาร ย่านถนนเทพรักษ์ เขตสายไหม ที่ระบุว่า COVID-19 ทำให้รายได้ลดลง ต้องเป็นหนี้ครั้งแรกในรอบ 3 ปี และต้องปล่อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดี เนื่องจากต้องเก็บรายได้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน

ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ถือว่าช่วยได้ แต่ไม่มาก และไม่มั่นใจว่าจะครอบคลุมถึงร้านที่ต้องเช่าพื้นที่ด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ช่วยบรรเทาผลกระทบได้ แต่มีขั้นตอนสำหรับคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคม โดยสิ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้กล่าวถึงและประชาชนต้องการ คือการพักหนี้

จากรายได้ที่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เช่น ค่าห้อง ค่าเช่า ทำให้ผู้ค้าบางรายต้องกู้เงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำ เพราะการค้าขายขณะนี้ยากลำบาก ถ้าไม่ขายก็ไม่มีรายได้ จึงอยากให้รัฐช่วยพักหนี้

ขณะที่นายคมสัน ป้อมพันธุ์ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งประกอบอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ กล่าวว่า สถานะการเงินย่ำแย่มาก เพราะการระบาดของ COVID-19 ระลอกล่าสุด กระทบต่อจ้างงาน รายได้หายไปหมด จำใจต้องก่อหนี้เพิ่ม ด้วยการกดเงินจากบัตรเงินสด เพื่อนำไปจ่ายค่างวดรถ เพราะไม่อยากให้เสียประวัติการชำระค่างวด จึงอยากให้รัฐบาล และธนาคารช่วยเหลือหยุดหนี้ และดอกเบี้ยไว้ก่อน

นายเดชพินันท์ สุทัศนทรวง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ปฏิบัติการสินเชื่อรายย่อย ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพักหนี้เป็นแค่มาตรการชั่วคราว หนี้ไม่ได้หายไปไหน และเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่พักชำระหนี้ ดอกเบี้ยทบเงินต้นเข้าไปอีก ซึ่งการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คือการปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการยืดระยะเวลาการผ่อน

ขณะที่บางคนอาจจะอาการหนัก รอไม่ได้แล้ว ธนาคารจึงออกโครงการ "คืนรถจบหนี้" ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบหรือ "ยกหนี้ให้" ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด คือหากมีส่วนต่างผลขาดทุนจากการขายรถ และธนาคารจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม พร้อมระบุสถานะเป็นลูกค้า "ปิดบัญชี"

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าธนนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมหารือร่วมกัน เพื่อหามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอก 3 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง