"ตลาดบ้านป่า" ส่งตรงจากไร่ - นา ตั้งแผงขายบนออนไลน์

สังคม
15 ก.ค. 64
12:59
749
Logo Thai PBS
"ตลาดบ้านป่า" ส่งตรงจากไร่ - นา ตั้งแผงขายบนออนไลน์
"ตลาดบ้านป่า peasant market" คนรุ่นใหม่ ตั้งแผงออนไลน์เปิดพื้นที่เกษตรกรขายสินค้าส่งตรงจากไร่ - นา 8 ร้าน 8 จังหวัด สร้างรายได้ช่วง COVID-19
เราอยากให้ลูกค้าเข้าถึงผัก ผลไม้ อาหารตามฤดูกาล ซึ่งเป็นอาหารปลอดภัย ราคาเข้าถึงได้ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในช่วง COVID-19 

เป้าหมายหลักของเพจ ตลาดบ้านป่า peasant market ที่หวังช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา ช่วง COVID-19 เป็นคำตอบแรกหลังถามถึงจุดเริ่มต้นแผงค้าออนไลน์ของ "อริสรา ขวัญเวียน" ในวัย 26 ปี ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ที่ผันตัวมาเป็นแอดมินเฉพาะกิจ พร้อมเป็นทุกอย่างให้ร้านค้าในเครือข่ายแล้ว


จากเกษตรกรต่างจังหวัด ที่ต้องเตรียมสินค้าขนขึ้นรถกระบะออกเดินทางเข้าเมืองกรุง กลายเป็นภาพที่อยู่ในความทรงจำ

"อริสรา" ลุกขึ้นมาตั้งแผง ตลาดบ้านป่า peasant market ปรุงรส ตกแต่งจาน สร้างภาพลักษณ์ที่เข้าถึงได้ เพื่อกระตุ้นให้คนออนไลน์ สนใจซื้อสินค้าสด ๆ จากไร่-นา 

COVID-19 ทำให้คนเดินทางไม่ได้ เราหวังว่าคนในเมืองกรุงรวมไปถึงลูก-หลานของเราที่ไปทำงานกรุงเทพฯ หรือจังหวัดต่าง ๆ จะได้กินอาหารปลอดภัย ในราคาที่เข้าถึงได้

 

 

ตลอดระยะเวลาเตรียมงาน 1 เดือน ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับลุง ป้า น้า อาที่เคยใช้สมาร์ตโฟนเพื่อคุยโทรศัพท์ "อริสรา" และทีมงานเริ่มต้นเปิดคลาสสอนใช้เทคโนโลยีทั้งการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ใช้ไลน์ ไปจนถึงการเข้าแอปพลิเคชัน ZOOM เพื่อเข้าสู่การขายสินค้าออนไลน์อย่างเต็มตัว

เราแนะนำตั้งแต่การถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ แนะนำให้ถ่ายแนวนอน หรือต้องวางสินค้าอย่างไร แบล็กกราวน์เป็นแบบไหน รวมถึงการใช้ ZOOM ต้องทำอย่างไร จะพูดพรีเซนต์สินค้าอย่างไร รวมถึงการแอดไลน์ การส่งเลขบัญชี รับสลิปโอนเงิน และการจัดส่งสินค้า ทีมงานก็จะสอนตั้งแต่เริ่มต้นไปด้วยกันเลย
ภาพ : ตลาดบ้านป่า peasant market

ภาพ : ตลาดบ้านป่า peasant market

ภาพ : ตลาดบ้านป่า peasant market

 

ภาพ : ตลาดบ้านป่า peasant market

ภาพ : ตลาดบ้านป่า peasant market

ภาพ : ตลาดบ้านป่า peasant market

 

ภาพและวิดีโอที่ส่งมา ทีมงานจะนำมาสร้างกราฟิก ติดเบอร์ติดต่อ โพสต์อัปเดตบนหน้าเฟซบุ๊กในทุก ๆ วัน รวมทั้งมีการนัดหมายเปิดแผงขายตรงแบบสด ๆ กับไลฟ์เฟซบุ๊กเดือนละ 1 ครั้ง ผ่านทางแอปฯ ZOOM เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงสินค้ามากขึ้น

โดยไลฟ์มาแล้ว 2 ครั้ง ผลตอบรับเรียกได้ว่า เริ่มมีความหวัง ร้านเครือข่ายทั้ง 8 ร้าน จาก 8 จังหวัดเริ่มมีลูกค้าประจำ สั่งสินค้าจำนวนมากในออร์เดอร์เดียว โดยตลาดบ้านป่าจะตั้งแผงขายไลฟ์ในเฟซบุ๊กครั้งต่อไปวันที่ 24 ก.ค.นี้

หลายพื้นที่สัญญาณไม่ดี ไฟดับ ไฟตกบ้าง แต่ทุกคนก็สู้ฝึกขายออนไลน์ เปิดโปรแกรม ถ่ายวิดีโอ โทรศัพท์คุยกับลูกค้า ตลอด 1 เดือนที่เตรียมตัวมาทุกคนพัฒนาขึ้นมาก แม้ตอนไลฟ์คนจะดูไม่มาก แต่พอมีคนสั่งสินค้า ลุง ป้า น้า อา เขาก็ใจดีโทรหาเราแล้วบอกว่า ไม่คิดว่าจะมีคนโทรมา

อย่างร้านส้มโอที่ จ.กาญจนบุรี มีออร์เดอร์สูงสุด ลูกค้า 1 คน สั่งซื้อครั้งเดียว 100 ลูก หรือร้านขายสตอ จ.ชุมพร สั่งออร์เดอร์เดียว 300 ฝัก ซึ่งเขาไม่เคยคิดว่าจะขายได้ขนาดนี้

ส่วนร้านขายกล้วยเล็บมือนางที่ จ.ชุมพร ที่ขณะนี้ประสบปัญหาราคาตกจาก 15 บาท ลดเหลือ 8 บาท ร้านก็ปรับตัว แปรรูปเป็นกล้วยเล็บมือนางทอด ขายได้กิโลกรัมละ 300 บาท มีหลายคนสนใจสั่งซื้อไปเพื่อแบ่งขายต่ออีกด้วย

อริสรา ย้ำว่า เพจตลาดบ้านป่า เป็นเพียงสื่อกลางช่วยโปรโมตสินค้าเท่านั้น แต่การสั่งสินค้าเน้นให้ลูกค้าสื่อสารกับเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งคนที่อยู่ในเครือข่ายเป็นชาวไร่ ชาวนา ปลูก ดูแล เก็บผลเองทุกขั้นตอน

ดังนั้นหากติดต่อมาแล้วไม่ได้ตอบทันที ก็ขอให้ลูกค้าเข้าใจด้วย บางคนอยากได้สินค้ามาก แต่ลุง ป้า น้า อา ไม่ได้มีสินค้าสต็อกไว้ เพราะอยากส่งตรงของสด ๆ ใหม่ ๆ ไปถึงทุกคน 

ทางตลาดบ้านป่า เน้นขายผัก ผลไม้ตามฤดูกาลของแต่ละภาค แต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นสินค้าปลอดภัย ไม่มีสารเคมีแน่นอน เพราะเราเห็นว่า การได้รับประทานอาหารที่ตรงตามฤดูกาลเป็นสิ่งสำคัญ

 


อริสรา ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เป้าหมายสูงสุดคือ ให้ทุกร้านขายได้ คนเข้าถึงได้มีคนโทรสั่งเรื่อย ๆ เปิดเพจขายของด้วยตัวเอง ส่วนลูกค้าก็หวังว่าจะได้รับสินค้าที่ตรงตามฤดูกาล ปลอดภัย ในราคาที่เข้าถึงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง