อุทยานฯ ยกระดับคุม "ลัมปี สกิน" ประชิดป่าห้วยขาแข้ง

สิ่งแวดล้อม
16 ก.ค. 64
12:36
686
Logo Thai PBS
อุทยานฯ ยกระดับคุม "ลัมปี สกิน" ประชิดป่าห้วยขาแข้ง
กรมอุทยานฯ ยกระดับคุม "ลัมปี สกิน" ประชิดป่าห้วยขาแข้ง หลังพบวัวชาวบ้านป่วยตายหลายตัว สั่งห้ามใกล้แนวกันชนป่าเด็ดขาด ขณะที่ทีมสัตวแพทย์ เฝ้าระวังกระทิงกุยบุรี หลังพบติดลัมปี สกิน ตายแล้ว 1 ตัว ให้เฝ้าระวังสัตว์ป่าป่วยอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (16 ก.ค.2564) นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวถึงกรณีพบกระทิงตาย 2 ตัวที่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบ 1 ตัวมีเชื้อลัมปี สกินว่า นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า พร้อมกรมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ มาตรการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ป่า

โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ สังเกตอาการป่วย หรือตายผิดปกติของวัวป่า ควายป่า และกลุ่มสัตว์กีบในพื้นที่รับผิดชอบ และให้เข้มงวดในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคในสัตว์ป่า

หากพบมีลักษณะตุ่มขนาดใหญ่ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย หรือพบสัตว์ป่าตาย ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ในพื้นที่รับผิดชอบเข้าตรวจสอบ พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุของการป่วย หรือตาย

นอกจากนี้ กำหนดแนวเขตกันชน ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และควบคุมไม่ให้มีการใช้พื้นที่ชายขอบป่าอนุรักษ์ในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ และให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อที่ติดมากับล้อรถยนต์ และฉีดพ่นยาควบคุมแมลงให้กับเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสามยอด 

อ่านข่าวเพิ่ม ผลแล็บชี้กระทิงกุยบุรี ติด "ลัมปี สกิน" ตาย 1 ตัว

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เฝ้าระวังขั้นสูงสุดเขตห้วยขาแข้ง 

นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวว่า ขณะนี้เฝ้าระวังไม่ให้โรคลัมปี สกิน ในสัตว์เลี้ยงลามสู่สัตว์ป่า โดยขอความร่วมมือชาวบ้านไม่นำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใกล้แนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ จ.อุทัยธานี อย่างเด็ดขาด

จัดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวนเฝ้าระวังเป็นจุด ๆ เพื่อป้องกันการลักลอบนำสัตว์มาเลี้ยงในพื้นที่ ผลักดันสัตว์ป่าที่จะออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพราะพื้นที่มีทั้งวัวแดง กระทิง อาจเสี่ยงติดโรคลัมปี สกิน 

นายธนิตย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตรวจพบเนื้อทรายเกิดตุ่มนูน 3 ตัว และสงสัยว่าอาจเป็นโรคลัมปี สกิน จึงได้ส่งตัวอย่างไปตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก ผลการตรวจพบว่า ไม่ติดโรคลัมปี สกิน

เบื้องต้นพบวัวของชาวบ้าน 7 ตัว ที่คาดว่าอาจจะเป็นโรคลัมปี สกิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้มาเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้มีรายงานพบสัตว์เลี้ยงป่วย 139 ตัว ตาย 11 ตัว และพื้นที่การระบาด อยู่ห่างจากแนวเขตของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 15–20 กิโลเมตร

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

กระทิงเขาแผงม้าตาย 1 ตัว

ด้านนายสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 กล่าวว่า หลังจากมีรายงานพบซากกระทิงตาย 1 ตัว ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า บ้านคลองทราย อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จึงได้ประสานสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เข้าตรวจสอบ พบเป็นกระทิงตัวเมียมีบาดแผลบริเวณผิวหนังเป็นรู แต่ตรวจสอบแล้วไม่ใช่โรคลัมปี สกิน จึงได้ชันสูตรซากสัตว์ป่า โดยการเก็บชิ้นเนื้อ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุการตาย และเจ้าหน้าที่ได้ทำลายซากกระทิงด้วยวิธีการขุดหลุมฝังกลบ โรยปูนขาว ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอผลแล็บ "กระทิงกุยบุรี" ตายจากลัมปี สกิน?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง