1 สัปดาห์ 2,090 คน "โควิดสายพันธุ์เดลตา" ลาม 71 จังหวัด+กทม.

สังคม
19 ก.ค. 64
12:15
865
Logo Thai PBS
1 สัปดาห์ 2,090 คน "โควิดสายพันธุ์เดลตา" ลาม 71 จังหวัด+กทม.
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยพบติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลตาแซงหน้าอัลฟาแล้ว 1 สัปดาห์ติดเชื้อเพิ่ม 2,090 คน ลาม 71 จังหวัด + กทม. ชี้คุณสมบัติติดง่าย จึงเป็นคำตอบผู้ติดเชื้อรายวันไทยเพิ่มเร็วขึ้น

วันนี้ (19 ก.ค.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) มีผู้ติดเชื้อแซงสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ยังอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้


สำหรับภาพรวมประเทศที่มีการตรวจสายพันธุ์ COVID-19 สัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจไป 3,340 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์เดลตา 62.6% อัลฟา 34.1% และเบตา 3.3% เมื่อจำแนกเฉพาะพื้นที่ กทม.พบสายพันธุ์เดลตา 76.5% ขณะที่ภูมิภาค 47.3% ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 10-16 ก.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา เพิ่ม 2,090 คน รวมสะสมตั้งแต่เดือน เม.ย. พบติดเชื้อ 5,762 คน


สายพันธุ์เดลตาพบ 71 จังหวัด และ กทม. โดยสัปดาห์นี้พบเพิ่มอีก 11 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน 3 คน กาญจนบุรี 1 คน สมุทรสงคราม 4 คน ฉะเชิงเทรา 20 ตราด 2 คน สุรินทร์ 28 คน ชุมพร 1 คน นครศรีธรรมราช 2 คน กระบี่ 2 คน พังงา 1 คน และปัตตานี 2 คน

พบสายพันธุ์เดลตาเกือบครบทั้งประเทศ ตอนนี้มี  71 จังหวัด และ กทม. ซึ่งเป็นคำตอบว่า ทำไมจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันถึงเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว เพราะสายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติติดง่าย แต่อัตราความรุนแรงและป่วยตายยังไม่มีผลกระทบมากเท่าใด

ภาคใต้พบเบตาเพิ่ม-ในกทม.ไม่ระบาดเป็นวงกว้าง

ส่วนสายพันธุ์เบตา ซึ่งเป็นเชื้อข้ามมาจากชายแดนเข้ามาทาง จ.นราธิวาส พบเพิ่มใน จ.นราธิวาส อีก 91 คน และพบใน จ.ปัตตานี ยะลา สงขลา และพัทลุง ลามไปถึง จ.ชุมพร พบเพิ่ม 1 คน

ส่วน จ.บึงกาฬ ซึ่งก่อนหน้านี้พบแรงงานที่กลับมาจากไต้หวัน อยู่ใน SQ ตรวจไม่พบเชื้อแต่กลับบ้านแล้วมีอาการตรวจอีกครั้ง จึงพบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์เบตา ล่าสุด มีผู้สัมผัสใกล้ชิดติดเชื้อเพิ่ม 3 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบที่มาของเชื้อ เพราะสายตระกูลยังไม่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาคใต้ก็ยังไม่ใช่ จึงยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

สำหรับพื้นที่ กทม.สัปดาห์นี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มจากกรณีแรกที่ลูกชายเดินทางมาจากนราธิวาส เพื่อเยี่ยมพ่อที่ กทม. คาดว่าหากสัปดาห์หน้ายังไม่มีเพิ่ม สายพันธุ์เบตาใน กทม.อาจจะจบได้ คือไม่มีการระบาดในวงกว้าง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง

ชี้ไทยพบติดเชื้อผสม 2 สายพันธุ์ ยังไม่มีเชื้อไฮบริด

นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อจำนวน 7 คน ซึ่งพบการติดเชื้อแบบผสม ในตัวคนเดียวพบ 2 สายพันธุ์ คือ เดลตาและอัลฟานั้น ยังไม่มีการผสมกันจนกลายเป็นพันธุ์ใหม่ หรือเชื้อไฮบริด แต่หากปล่อยให้มีการติดเชื้อแบบผสมจำนวนมากขึ้น เมื่อเชื้อเข้าไปในเซลล์มาก ๆ อาจจะพบกันแล้วเปลี่ยนไปเป็นพันธุ์ใหม่ได้ แต่ย้ำว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบเชื้อไฮบริด 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง