คลัสเตอร์ใหญ่ปทุมธานี ภาระหนักของคนท้องถิ่น

ภูมิภาค
20 ก.ค. 64
19:33
2,648
Logo Thai PBS
คลัสเตอร์ใหญ่ปทุมธานี ภาระหนักของคนท้องถิ่น

ในพื้นที่ระบาดหนักของ จ.ปทุมธานี ที่มีแหล่งที่มีความอ่อนไหวต่อการระบาดสูง ทั้งตลาดขนาดใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานหลายพันคน แม้หลายฝ่ายจะพยายามแก้ปัญหา แต่ภาระหนักมักจะตกมาอยู่กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ที่ต้องทำงานอย่างหนัก ในสภาวะที่ทั้งเสี่ยงและยากขึ้นกว่าเดิม

หนึ่งในนั้นคือ เทศบาลเมืองท่าโขลง ที่มีประชากรกว่า 270,000 คน ด้วยสภาพชุมชนที่ถูกขนาบข้างด้วยคลัสเตอร์ระบาดทั้งตลาดและโรงงานขนาดใหญ่ เมื่อมีคนหนึ่งติดเชื้อจากคลัสเตอร์เหล่านี้ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงแพร่กระจายสู่ครัวเรือน และชุมชนได้รวดเร็ว

ข้อมูลวันที่ 16 ก.ค.พบว่ามีมากถึง 711 ครอบครัว ในเขตพื้นที่ของเทศบาลที่ต้องกักตัว แต่ละครอบครัวมีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนถึง 10 กว่าคนที่อยู่ในความเสี่ยง ในสถานการณ์การระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

สุเทพ วงษ์แจ้ง นายกเทศมนตรีเมืองท่าโขลง กล่าวถึงผลกระทบของชุมชนจากความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ตลาดไทและคลัสเตอร์โรงงานว่า ชุมชนเทศบาลเมืองท่าโขลงมีภูมิลำเนาอยู่รอบตลาดไท ประชาชนในเขตเทศบาลก็ไปทำมาหากินและซื้อของที่ตลาดกลับมาขายในร้านขายของชำ

เมื่อมีการติดเชื้อที่ตลาดเกิดขึ้น คนที่ไปซื้อขายที่นั่นก็ติดไปด้วย และก็นำเชื้อไปกระจายในชุมชนและครอบครัว บางครอบครัวติดทั้งครอบครัว

ไม่รวมถึงในเขตเทศบาลซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะ คนที่ไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรม ก็ติดมาด้วย แล้วคนที่ทำงานก็มาซื้อบ้านอยู่ในนี้ ทำให้การติดเชื้อในเขตเทศบาลมันเริ่มเพิ่มมากขึ้น

นายกเทศมนตรีบอกด้วยว่า ทุกวันจะมีทั้งโทรศัพท์ ไลน์ ดังตลอดทั้งวันว่า ขอให้เทศบาลเข้าไปช่วยเหลือ เช่น เตียงไม่มี บางคนก็มีอาการแน่นหน้าอก ไอมากขึ้น

นงนุช เครือเอม หัวหน้าฝ่ายสังคมสงเคราะห์ เทศบาลเมืองท่าโขลง กล่าวว่า เทศบาลเริ่มลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่าน ช่วงแรกยังมีจำนวนไม่กี่ครอบครัว แต่วันนี้เพิ่มมาเป็นหลักหลายร้อย ขณะที่สภาพผู้ป่วยก็เริ่มหนักขึ้น

“ตอนนี้หนักมาก หนักจริงๆ มันไม่ใช่ค่อยๆ ขึ้น แต่มันไวมาก ขึ้นจาก 10 เคส เป็น 100 เคสต่อวัน ตอนแรกๆ เป็นกักตัว ตอนหลังเริ่มเป็นการรอเตียง คือตรวจพบว่าติดโควิด แต่ไม่มีเตียง และมีคนกักตัวอยู่ในบ้านด้วย นี่เป็นปัญหาที่เจอตอนนี้ ลงไปส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยรอเตียง แต่ต้องอยู่รวมบ้านเดียวกันกับผู้กักตัว”

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย นงนุช ยกตัวอย่างเรื่องการแต่งกายของเจ้าหน้าที่เทศบาล จากที่เคยแค่ใส่ชุดธรรมดาก็ลงพื้นที่ได้ แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนเป็นใส่ชุด PPE แทน เพราะเชื้อที่ระบาดในชุมชนเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดง่ายขึ้น ติดง่ายขึ้น และรุนแรงขึ้น จึงต้องเพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่

รวมทั้งพยายามกำชับว่า ไม่ให้เจ้าหน้าที่พบหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้กักตัว ให้พูดคุยทางโทรศัพท์เท่านั้น เอาของไปวางไว้แล้วก็โทรบอกผู้กักตัวให้ออกมาเอาของเอง ส่วนของที่เอาไปให้ชาวบ้าน มีทั้งอาหารกล่อง อาหารแห้ง น้ำดื่ม และยารักษาโรค

ส่วนงบประมาณที่ใช้ดำเนินการจัดซื้ออาหารและยา หัวหน้าฝ่ายสังคมสงเคราะห์บอกว่า มาจาก “กองทุนวันละบาท” ที่เป็นกองทุนสวัสดิการของชุมชน รวมทั้งงบประมาณของเทศบาลเองอีกประมาณ 5 แสนบาท และจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) อีก 3 แสนบาท แต่หากมีผู้ที่ต้องกักตัวเพิ่มมากขึ้น งบประมาณที่เตรียมไว้ก็อาจจะไม่เพียงพอและอาจต้องขอรับความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ นงนุช บอกว่า ต้องขอความช่วยเหลือคือการจัดระบบฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อในชุมชน เพื่อให้ระบบการช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่รายชื่อผู้ติดเชื้อ และครอบครัวที่ต้องถูกกักตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน

ตอนนี้ข้อมูลไหลมาเหมือนน้ำ มาจากทุกช่องทาง ทำให้การคัดกรองค่อนข้างลำบากและใช้เวลามาก ข้อมูลมีทั้งมาทางไลน์ส่วนตัวทั้งจากสมาชิกสภาเทศบาล ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน คนข้างบ้าน และตัวผู้ป่วยเอง ก็ต้องจัดสายลงพื้นที่ในแต่ละวัน

ควบคู่ไปกับการประคองอาการผู้ที่ยังต้องกักตัวในชุมชน เทศบาลร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ก็เร่งปรับปรุงพื้นที่ “ศูนย์การเรียนรู้และสวนสาธารณะเทศบาลเมืองท่าโขลง” จัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและเหลือง ประมาณ 300 เตียง พร้อมห้องแล็บตรวจเชื้อและจุดเอ็กซเรย์ปอด เพื่อดึงผู้ติดเชื้อในเขตเทศบาลเข้าระบบรักษาให้เร็วที่สุด

ไม่มีใครรู้ว่าโรคระบาดนี้จะยุติเมื่อใด การมีด่านหน้าที่เข้มแข็งย่อมช่วยป้องกันให้ขอบเขตความรุนแรงไม่ขยายออกไปมากกว่านี้ แต่หากปล่อยให้ภาระตกแก่ท้องถิ่นเพียงหน่วยเดียว โดยภาครัฐส่วนกลาง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “แหล่งระบาด” นั้น ไม่ลงมาช่วยสู้ศึกนี้ด้วย ก็อาจไม่สามารถยุติสงครามครั้งนี้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง