สภาองค์กรบริโภค วอนรพ.เลิกขอผลตรวจ RT-PCR ป่วยโควิดเหลือง-แดง

สังคม
21 ก.ค. 64
12:51
612
Logo Thai PBS
สภาองค์กรบริโภค วอนรพ.เลิกขอผลตรวจ RT-PCR ป่วยโควิดเหลือง-แดง
สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้โรงพยาบาล เลิกเรียกหาผลตรวจ RT-PCR จากผู้ป่วย COVID-19 กลุ่มสีเหลืองและสีแดง ก่อนเข้ารับการรักษา ซึ่งทำให้เป็นภาระและเกิดความล่าช้าในการเข้าสู่ระบบรักษา และบางคนอาจยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น

วันนี้ (21 ก.ค.2564) ผูู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้โรงพยาบาล เลิกเรียกหาผลตรวจ RT-PCR จากผู้ป่วย COVID-19 กลุ่มสีเหลืองและสีแดง ก่อนเข้ารับการรักษา

แถลงการณ์ระบุว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้จำนวนเตียงผู้ป่วยมีปริมาณไม่เพียงพอ ต่อความต้องการในการรักษาพยาบาล ประกอบกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด แม้จะสามารถเพิ่มจำนวนเตียงได้

ปัจจุบันรัฐได้ออกมาตรการตรวจเชิงรุก เพื่อคัดกรองประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด ด้วยชุดทดสอบ Antigen Test Kit โดยหากผลตรวจด้วยชุดทดสอบเป็นบวก จะขอความร่วมมือให้ผู้ติดเชื้อ ดำเนินการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation)

ทั้งนี้การแยกตัวที่บ้านประชาชน สามารถติดต่อคลินิกอบอุ่นที่เข้าร่วม เพื่อให้คลินิกฯ จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลตนเองเบื้องต้น เช่น ปรอทวัดไข้ อุปกรณ์วัดออกซิเจนจากปลายนิ้วของผู้ติดเชื้อ และมีบริการโทรศัพท์เพื่อสอบถามอาการของผู้ติดเชื้อวันละสองครั้ง รวมทั้งสนับสนุนอาหารในการแยกตัววันละ 3 มื้อทุกวัน เป็นเวลา 14 วัน

เลิกขอผลตรวจ RT-PCR ลดอาการรุนแรง-เข้าระบบรักษา

นอกจากนี้ ในจำนวนผู้ป่วยสีเขียวเหล่านี้ บางรายอาจจะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นผู้ป่วยสีเหลืองหรือสีแดง ซึ่งต้องได้รับการเอ็กซ์เรย์ปอด เพื่อเข้ารับการรักษาทันทีในโรงพยาบาล

แต่ปัจจุบันพบว่า เมื่อประชาชนมีอาการรุนแรงขึ้น ทุกโรงพยาบาลกลับเรียกหาผลตรวจ Real Time Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) ซึ่งเป็นการตรวจเชื้อโควิด ที่ต้องส่งตรวจห้องแล็บที่ได้มาตรฐานเท่านั้น

ผู้ป่วยจึงต้องรับภาระในการหาสถานที่ตรวจเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งการหาที่ตรวจแบบ RT-PCR แบบเร่งด่วนในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องใช้เวลาอีกใน 2 วัน ก่อนได้รับการรักษา

สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า การหาสถานที่ตรวจโควิดด้วยวิธีการนี้ ควรเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการ ไม่ใช่หน้าที่หรือภาระของผู้ป่วย ที่ต้องหาสถานที่ตรวจ เพื่อให้ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้ ภาครัฐควรบริหารจัดการให้มีระบบที่เอื้ออำนวย รวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากอาการที่รุนแรงโดยทันท่วงที แทนการรอเสียชีวิตที่บ้าน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติด COVID-19 แตะ 13,002 คน เสียชีวิต 108 คน

รพ.สระบุรีเตียงเต็ม! ระบุภาพที่เห็นในโซเชียล ผู้ป่วยคัดกรอง-รอเตียง

แพทย์รามาฯ ขอรัฐบาลเร่งหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงรับมือโควิด-19 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง