เช็ก 10 สถานที่-กิจการปิดเพิ่ม "ร้านเสริมสวย-ตัดผม-สวนสาธารณะ"

สังคม
21 ก.ค. 64
13:47
4,362
Logo Thai PBS
เช็ก 10 สถานที่-กิจการปิดเพิ่ม "ร้านเสริมสวย-ตัดผม-สวนสาธารณะ"
ศบค.เผย 10 สถานที่และกิจการที่ต้องปิดเพิ่ม ควบคุม COVID-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ทั้งสนามกีฬา สระว่ายน้ำ สวนสาธารณะ ศูนย์แสดงสินค้า พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ศูนย์เด็กเล็ก ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม

วันนี้ (21 ก.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า วันนี้เป็นวันแรกของการใช้มาตรการเรื่องการเคลื่อนย้าย งดเดินทาง รวมทั้งการไม่อนุญาตให้เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 13 จังหวัด

ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา ไปยังพื้นที่อื่น ยกเว้นกรณีจำเป็น เช่น ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ

ก่อนหน้านี้ มีกิจการที่ปิดและได้รายงานชัดเจนแล้ว 23 รายการในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น สถานบริการ สถานบันเทิง อาบอบนวด สนามชนไก่ สนามมวย สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์พระเครื่อง

ปิดเพิ่ม 10 สถานที่-กิจการ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า มีสถานที่และกิจการ 10 รายการ ที่ต้องปิดเพิ่มตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ได้แก่ สนามกีฬาทุกประเภท, สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬา สระว่ายน้ำ, ลานกีฬา, ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ

ศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือหอศิลป์, ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชนและบ้านหนังสือ

พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน, ร้านเสริมสวย ร้านตัดผมหรือแต่งผม ร้านทำเล็บ หรือร้านสัก, สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ต่าง ๆ

ทั้งนี้ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) งดออกนอกเคหสถานเวลา 21.00-04.00 น. และยกระดับมาตรการคุม COVID-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต่ออีก 14 วัน เริ่ม 20 ก.ค.-2 ส.ค.นี้ 

ขอขยายเพิ่มเติมอีก 10 รายการ เป็นคำสั่งปิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 28

 

ส่วนสถานที่รับเลี้ยงเด็ก เฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเด็กในโรงพยาบาล และที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ และตลาดนัด เฉพาะส่วนที่ขายอาหาร หรือวัตถุดิบเพื่อการบริโภค สามารถเปิดได้ภายใต้เงื่อนไขควบคุมโรค

ป่วยเพิ่ม 1.3 หมื่นคน เสียชีวิต 108 คน

ขณะที่สถานการณ์ในวันนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 13,002 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อใหม่ 11,953 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,049 คน รวมตัวเลขผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 จำนวน 410,614 คน หายป่วยเพิ่ม 8,248 คน หายป่วยสะสม 277,030 คน เสียชีวิต 108 คน ขณะนี้มีผู้รักษาตัวอยู่ 131,411 คน อาการหนัก 3786 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 879 คน

 

ผู้เสียชีวิต 108 คน เป็นชาย 59 คน หญิง 49 คน ค่ากลางของอายุ 66 ปี (25-96 ปี) อยู่ในกรุงเทพฯ 40 คน สมุทรสาคร 13 คน นครปฐม 4 คน ปทุมธานี 4 คน สมุทรปราการ 3 คน นนทบุรี 1 คน สงขลา 7 คน ยะลา 6 คน นราธิวาส 2 คน ปัตตานี 2 คน ปราจีนบุรี 4 คน ชลบุรี 2 คน สระแก้ว 1 คน นครนายก 3 คน

เพชรบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 2 คน, ร้อยเอ็ด 2 คน ขอนแก่น 1 คน อุบลราชธานี 1 คน, กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท พิษณุโลก สุโขทัย นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 คน โดยมีปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง 54 คน เบาหวาน 44 คน ไขมันในเลือดสูง 22 คน โรคไต 12 คน โรคหัวใจ 9 คน หลอดเลือดสมอง 4 คน โรคอ้วน 5 คน โรคปอด 3 คน ติดเตียง 1 คน และไม่มีโรคประจำตัว 14 คน

10 จังหวัดติดเชื้อเพิ่มสูงสุด

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ติดเชื้อเพิ่ม 2,921 คน สมุทรสาคร 932 คน นนทบุรี 661 คน สมุทรปราการ 656 คน ชลบุรี 636 คน ฉะเชิงเทรา 374 คน ปทุมธานี 350 คน ระยอง 305 คน ปัตตานี 282 คน และพระนครศรีอยุธยา 235 คน


ขณะที่กรมการแพทย์ ได้รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค.2564 พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสีเขียวอ่อน หรือไม่มีอาการ 18,025 คน (51.78%) สีเขียวเข้ม หรืออาการน้อย 9,154 คน (26.30%) สีเหลือง หรืออาการปานกลาง 6,299 คน (18.10%) และสีแดง หรืออาการหนัก 1,330 คน (3.82%)

CCRT ตรวจเชิงรุกชุมชน พบติดเชื้อสะสม 176 คน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร รายงานผลปฏิบัติงานของทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก Comprehensive Covid-19 Response Team (CCRT) ตั้งแต่วันที่ 15-20 ก.ค.2564 ลงพื้นที่ชุมชนและตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit พบติดเชื้อสะสม 176 คน

กรมการแพทย์ เสนอความคืบหน้าการจัดสรรเตียง ซึ่งขณะนี้ศักยภาพเตียงมีจำกัดอย่างยิ่ง เตียงที่มีอยู่เดิมเต็มทั้งหมดแล้ว โดย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการขยายเตียง เปิดโรงพยาบาลและไอซียูสนามเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม การตอบโจทย์ผู้ป่วยจำนวนมาก จึงต้องใช้มาตรการ Home isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน) และ Community isolation (การแยกกักตัวในชุมชน) ซึ่งต้องจัดให้ได้อย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง ในพื้นที่ 50 เขต กทม. คาดว่ารองรับผู้ป่วยได้ 5,000-20,000 เตียง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ราชกิจจานุเบกษา ยกระดับล็อกดาวน์ฉบับที่ 28 -งดออกนอกเคหสถานต่อ 14 วัน

ราชกิจจาฯ ออกประกาศเพิ่ม "ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-อยุธยา" พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง